ประเภทภาษีในสหรัฐฯ2019-05-27T17:46:53-04:00

ประเภทภาษีในสหรัฐฯ

ระบบภาษีในสหรัฐฯ มีการจัดเก็บตั้งแต่ระดับรัฐบาลกลาง (Federal) จนถึงระดับรัฐบาลท้องถิ่นเช่น รัฐ (State) เทศมณฑล(County) หรือเมือง(City) ทั้งนี้ภาษีที่จัดเก็บโดยหน่วยงานระดับรัฐ เทศมณฑล และเมืองนั้น จะมีความแตกต่างกันออกไปตามกฎระเบียบและนโยบายในแต่ละพื้นที่ ภาษีที่เรียกเก็บจึงมีความแตกต่างกันไปตามที่ตั้งของสถานประกอบการ

นอกจากที่ตั้งของสถานประกอบการแล้ว รูปแบบของธุรกิจ ก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้การเสียภาษีมีความแตกต่างกันออกไป

ปีภาษี
กฎหมายกำหนดให้ธุรกิจต้องจ่ายภาษีและทำบัญชีรายรับรายจ่ายเป็นประจำเป็นรายปี ธุรกิจสามารถเลือกรูปแบบของปีภาษีที่จะใช้ได้โดยแจ้งกับกรมสรรพากร (IRS) ในปีแรกที่ทำการยื่นภาษี หรือเมื่อขอหมายเลขประจำตัวนายจ้าง (EIN) แต่สามารถเปลี่ยนรูปแบบของปีภาษีได้โดยแจ้งขอกับ IRS ในภายหลัง ธุรกิจสามารถเลือกปีได้ดังต่อไปนี้

– ตรงตามกับปีปฏิทิน (ม.ค. – ธ.ค) โดยส่วนใหญ่แล้ว ธุรกิจมักเลือกทำปีภาษีให้ตรงตามปีปฏิทิน โดยเฉพาะธุรกิจที่ไม่จำเป็นต้องมีการทำบัญชีแบบพิเศษใดๆ
– ปีงบประมาณ (fiscal year) ถ้าธุรกิจไม่ต้องการให้เดือนสุดท้ายของการปิดบัญชีในรอบ 12 เดือนนั้น ตรงกับเดือนธันวาคม
– ปีภาษีระยะสั้น (short tax year) ถ้าธุรกิจยังดำเนินงานมาไม่ครบ 1 ปี หรือมีการเปลี่ยนรอบปีบัญชีในปีนั้นๆ

ถ้าธุรกิจไม่ต้องมีการรายงานพิเศษหรือมีบัญชีที่ซับซ้อน ผู้ประกอบการควรเลือกใช้ปีภาษีให้ตรงตามปีปฏิทิน

ภาษีระดับรัฐบาลกลาง (Federal taxes)
หน่วยงานจัดเก็บภาษีของรัฐบาลกลางคือกรมสรรพากรหรือที่เรียกกันว่า IRS ภาษีที่จัดเก็บมีหลายรูปแบบดังต่อไปนี้

1. ภาษีเงินได้ที่จ่ายให้กับรัฐบาลกลาง (Income taxes)
ธุรกิจที่ทำการจดทะเบียนในสหรัฐฯ จะต้องยื่นภาษีเงินได้ ซึ่งอาจจะเป็นในรูปแบบภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหรือภาษีเงินได้ของบริษัท (นิติบุคคล) แล้วแต่รูปแบบของธุรกิจที่จดทะเบียน กฎนี้ใช้ทั้งกับบุคคลที่มีสัญชาติสหรัฐฯ (US Citizen) และบุคคลที่ไม่มีสัญชาติสหรัฐฯ (non-US citizen) ที่มีการทำธุรกิจในสหรัฐฯ

บริษัทแบบ S-Corporation
กำไรหรือขาดทุนที่ได้จากการประกอบการของธุรกิจที่จดทะเบียนในลักษณะ S Corp นั้น จะไม่ต้องยื่นภาษีในรูปแบบภาษีของบริษัท แต่จะถูกนำไปรวมกับรายได้อื่นๆ ของผู้ถือหุ้น เพื่อยื่นภาษีในรูปแบบเงินได้บุคคลธรรมดา วิธีการโดยย่อมีดังนี้
– ธุรกิจยื่นแบบที่เรียกว่าแบบ 1120S ให้ IRS (ภายในวันที่ 15 มี.ค.*) (เป็นการแจ้งให้ IRS ทราบ แต่ไม่ต้องเสียภาษีเงินได้นามธุรกิจ)
– ผู้ถือหุ้นแต่ละคนได้รับเอกสารที่เรียกว่า Schedule K-1
– ผู้ถือหุ้นยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาโดยใช้แบบ 1040 (ภายในวันที่ 15 เม.ย.*) พร้อม Schedule K-1

สำหรับบุคคลที่ไม่มีสัญชาติสหรัฐฯ: ไม่มีการยื่นภาษีแบบข้างต้นเพราะรูปแบบบริษัท S Corp นั้นจัดตั้งได้เฉพาะกรณีที่ผู้ถือหุ้นทุกคนมีสัญชาติสหรัฐฯ (U.S. Citizen) หรือมีถิ่นที่อยู่ถาวรอย่างถูกต้องตามกฏหมายในสหรัฐฯ (U.S. resident หรือ Green Card holder)

บริษัทแบบ C-Corporation
กำไรหรือขาดทุนที่ได้จากการประกอบการของธุรกิจที่จดทะเบียนในลักษณะ C Corp หรือ Corporation นั้น จะต้องยื่นภาษีแยกเป็นภาษีของบริษัท ซึ่งหมายความว่าธุรกิจจะต้องเสียภาษีเงินได้ที่บริษัทได้กำไรจากการประกอบธุรกิจ และหากกำไรนั้นถูกนำมาแบ่งจ่ายเป็นเงินปันผลให้แก่ผู้ถือหุ้น ผู้ถือหุ้นแต่ละคนจะต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับเงินปันผลที่ได้รับ วิธีการโดยย่อมีดังนี้
– ธุรกิจยื่นแบบภาษีสำหรับธุรกิจที่เรียกว่าแบบ 1120 ให้ IRS (ภายในวันที่ 15 เม.ย.*)
– หากบริษัทมีการจ่ายเงินปันผล ผู้ถือหุ้นแต่ละคนจะได้รับแบบ 1099-DIV เพื่อที่จะนำไปใช้เป็นหลักฐานในการยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในแบบ 1040 (ภายในวันที่ 15 เม.ย.*)
สำหรับบุคคลที่ไม่มีสัญชาติสหรัฐฯ: หาก 25% ของผู้ถือหุ้นหรือมากกว่านั้น ของบริษัท C Corp เป็นบุคคลที่ไม่มีสัญชาติสหรัฐฯแล้วนั้น นอกจากที่บริษัทจะต้องยื่นแบบ 1120 แล้ว บริษัทยังจะต้องยื่นแบบ 5472 อีกด้วย และบุคคลที่ไม่มีสัญชาติสหรัฐฯที่เป็นผู้ถือหุ้นในบริษัท C Corp และได้รับเงินปันผลจะต้องยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาโดยใช้แบบ 1040-NR (หรือ แบบ 1040-NR-EZ)

บริษัทจำกัด LLC ที่มีสมาชิก 1 คน หรือกิจการเจ้าของคนเดียว (sole proprietorship)
สำหรับในเรื่องของการเสียภาษีนั้น IRS ไม่ถือว่าธุรกิจที่จัดตั้งในลักษณะแบบนี้เป็น “บุคคล” แยกต่างหากจากเจ้าของธุรกิจ นั้นหมายความว่าธุรกิจในลักษณะนี้ไม่ต้องยื่นภาษีเงินได้ในนามของบริษัทหรือของธุรกิจ ผู้ประกอบการสามารถนำกำไรหรือขาดทุนที่ได้จากธุรกิจไปยื่นในภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาได้เลย
– ยื่นแบบ 1040 และ Schedule C (ภายในวันที่ 15 เม.ย.*)

สำหรับบุคคลที่ไม่มีสัญชาติสหรัฐฯ: บริษัทจำกัด LLC ที่มีสมาชิก 1 คน ซึ่งสมาชิก 1 คนนั้นไม่ได้เป็นสัญชาติสหรัฐฯ ต้องยื่นแบบ 5472 และแนบแบบ 1120 (ระบุเฉพาะชื่อและที่อยู่ของ LLC เลขประจำตัวนายจ้าง EIN และวันที่ที่จัดตั้ง LLC) นอกจากนี้สมาชิก 1 คนนั้น(เจ้าของบริษัท)ที่ไม่มีสัญชาติสหรัฐฯ ยังต้องยื่นแบบ 1040-NR (หรือ แบบ 1040-NR-EZ) อีกด้วย

อย่างไรก็ตาม บริษัทแบบ LLC สามารถเลือกที่จะยื่นภาษีในลักษณะเดียวกันกับ S Corp หรือ C Corp ก็ได้ ซึ่งถ้าเป็นเช่นนั้นธุรกิจต้องทำตามขั้นตอนของ S Corp หรือ C Corp

บริษัทจำกัด LLC ที่มีสมาชิกตั้งแต่ 2 คนขึ้นไป หรือห้างหุ้นส่วน (partnership)
สำหรับในเรื่องของการเสียภาษีนั้น IRS ไม่ถือว่าธุรกิจที่จัดตั้งในลักษณะแบบนี้เป็น “บุคคล” แยกต่างหากจากเจ้าของธุรกิจ นั้นหมายความว่าธุรกิจในลักษณะแบบนี้ไม่ต้องเสียภาษีเงินได้ในนามของบริษัทหรือของธุรกิจ ภาษีของกำไรหรือขาดทุนของธุรกิจจะถูกเสียผ่านผู้ถือหุ้นแต่ละคนในรูปแบบภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา วิธีการโดยย่อมีดังนี้
– ธุรกิจยื่นแบบที่เรียกว่าแบบ 1065 (ภายในวันที่ 15 มี.ค.*) (เป็นการแจ้งให้ IRS ทราบ แต่ไม่ต้องเสียภาษีเงินได้นามธุรกิจ)
– ผู้ถือหุ้นแต่ละคนได้รับ Schedule K-1
– ผู้ถือหุ้นยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาโดยใช้แบบ 1040 (ภายในวันที่ 15 เม.ย.*) พร้อม Schedule K-1

สำหรับบุคคลที่ไม่มีสัญชาติสหรัฐฯ: ผู้ถือหุ้นที่ไม่มีสัญชาติสหรัฐฯ ต้องยื่นภาษีเงินได้โดยใช้แบบ 1040-NR (หรือ แบบ 1040-NR-EZ) แทน

อย่างไรก็ตาม บริษัทแบบ LLC สามารถเลือกที่จะไปยื่นภาษีในลักษณะเดียวกันกับ S Corp หรือ C Corp ก็ได้ ซึ่งถ้าเป็นเช่นนั้นธุรกิจต้องทำตามขั้นตอนของ S Corp หรือ C Corp

*หมายเหตุ: วันที่ที่ต้องยื่นแบบฟอร์มข้างต้นนั้นคือสำหรับธุรกิจที่ใช้ปีภาษีตรงกันกับปีปฏิทน หากปีภาษีไม่ตรงตามปีปฏิทิน วันที่ 15 มี.ค. ข้างต้น จะเปลี่ยนเป็นวันที่ 15 ของเดือนที่ 3 หลังจากเดือนสุดท้ายของปีภาษี และวันที่ 15 เม.ย. จะเปลี่ยนเป็นวันที่ 15 ของเดือนที่ 4 หลังจากเดือนสุดท้ายของปีภาษี

สำหรับปีภาษีในขณะนี้ (พ.ศ.2562) อัตราภาษีของบริษัทแบบ C Crop เป็นอัตราคงที่อยู่ที่ 21% ในส่วนของรูปแบบธุรกิจอื่นๆไม่ว่าจะเป็นกิจการเจ้าของคนเดียว บริษัทจำกัด LLC ห้างหุ้นส่วน หรือบริษัทแบบ S Corp นั้น กำไรหรือขาดทุนของธุรกิจมักจะถูกนำไปจ่ายในรูปแบบภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา อัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาที่จะต้องจ่ายนั้นก็ขึ้นอยู่กับวิธีการยื่นภาษี เช่น ยื่นคนเดียว ยื่นร่วมกันกับคู่สมรส ยื่นแยกกันกับคู่สมรส อัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเป็นแบบขั้นบันได นั้นหมายความว่าหากมีรายได้มากก็จะต้องเสียภาษีมากขึ้น ในปัจจุบันอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาอยู่ที่ 10%-37%

2. ภาษีผู้รับจ้างงานอิสระ (Self-employment tax)
ภาษีผู้รับจ้างงานอิสระ หรือที่เรียกว่า self-employment tax นั้นคือภาษีที่จ่ายให้กับประกันสังคม (social security) และประกันสุขภาพผู้สูงอายุ (Medicare) ที่ผู้รับจ้างงานอิสระหรือผู้ที่ทำงานด้วยตัวเองจำเป็นต้องจ่าย

โดยปกติแล้ว การเป็นลูกจ้างหรือพนักงานนั้นก็จำเป็นต้องจ่ายเงินให้แก่ประกันสังคมและประกันสุขภาพผู้สูงอายุด้วยเช่นกัน (ในปีภาษี 2562 อยู่ที่ 6.2%) แต่จะถูกหัก ณ ที่จ่ายออกจากเงินเดือนหรือค่าจ้างที่ได้ (ซึ่งพอสิ้นปีลูกจ้างหรือพนักงานก็จะได้รับแบบ W2 จากบริษัทเพื่อนำไปยื่นภาษี) แต่ผู้ที่ทำงานแบบไม่มีนายจ้าง ไม่ได้รับเงินเดือน หรือเป็นเจ้าของบริษัทด้วยตัวเองนั้น ต้องจ่ายเงินในส่วนนี้ เป็น 2 เท่าเพราะต้องรับผิดชอบทั้งส่วนที่นายจ้างต้องจ่ายและส่วนที่ลูกจ้างต้องจ่าย (ในปีภาษี 2562 อยู่ที่ 15.3% หรืออาจมากกว่านี้ถ้ามีรายได้มากกว่าที่กำหนด โดย 12.4% เป็นเงินประกันสังคม 12.4% และประกันสุขภาพผู้สูงอายุMedicare 2.9%)

หากผู้ประกอบการหรือผู้รับจ้างงานอิสระมีรายได้มากกว่า $400 ต่อปี จะต้องจ่ายภาษีในส่วนนี้ ซึ่งโดยปกติจะต้องยื่นเป็นรอบไตรมาสซึ่งคือ 4 ครั้งต่อปี ในทุกๆวันที่ 15 ของเดือน เม.ษ มิ.ย ก.ย และม.ค (ของปีถัดไป)

โดยปกติแล้วผู้ที่ต้องจ่ายภาษีผู้รับจ้างงานอิสระมีดังต่อไปนี้
– ผู้ประกอบธุรกิจในรูปแบบกิจการเจ้าของคนเดียว (sole proprietor)
– หุ้นส่วนของห้างหุ้นส่วน (partnership partner)
– สมาชิกของบริษัทจำกัด LLC (LLC member) ที่ไม่ได้ขอยื่นภาษีแบบ S Corp หรือ C Corp
– ผู้รับจ้างงานอิสระ (คือรับจ้างงานจากที่อื่น แต่ไม่ได้เป็นพนักงาน เช่น คนขับรถ Uber/ Lyft ซึ่งแบบที่ใช้ยื่นภาษีจะเรียกว่า 1099-MISC)

บริษัทจำกัด LLC ที่มีสมาชิก 1 คน หรือกิจการเจ้าของคนเดียว
สำหรับธุรกิจที่มีเจ้าของคนเดียวไม่ว่าจะในรูปแบบ “กิจการเจ้าของคนเดียว” หรือ “บริษัทจำกัด LLC ที่มีสมาชิก 1 คน” การยื่นภาษีนั้น ธุรกิจต้องกรอกแบบ Schedule C ก่อน หลังจากนั้นให้นำกำไร(ขาดทุน) สุทธิที่ได้ในบรรทัดที่ 31 ในแบบ Schedule C คือเงินที่นำมาคำนวณภาษีผู้รับจ้างงานอิสระ โดยใช้แบบ Schedule SE คำนวณและยื่นภาษีในส่วนนี้

บริษัทจำกัด LLC ที่มีสมาชิกตั้งแต่ 2 คนขึ้นไป หรือห้างหุ้นส่วน
สำหรับธุรกิจที่มีเจ้าของมากกว่า 1 คนหรือมีหุ้นส่วนไม่ว่าจะในรูปแบบ “ห้างหุ้นส่วน” หรือ “บริษัทจำกัด LLC ที่มีสมาชิกตั้งแต่ 2 คนขึ้นไป” ธุรกิจต้องยื่นแบบ 1065 และอ้างกำไร(ขาดทุน) สุทธิจาก Schedule K-1 เพื่อนำมาคำนวณภาษีผู้รับจ้างงานอิสระ โดยใช้แบบ Schedule SE คำนวณและยื่นภาษีในส่วนนี้
การจัดตั้งธุรกิจในแบบบริษัท S Corp อาจช่วยผู้ประกอบการประหยัดภาษีผู้รับจ้างงานอิสระที่ต้องจ่ายได้ เพราะบริษัท Corporation นั้นสามารถนำค่าใช้จ่ายต่างๆมาเป็นส่วนลดภาษีได้มากขึ้น และผู้ประกอบการอาจจะจ่ายเงินเดือนให้ตัวเองแทน ซึ่งทำให้ผู้ประกอบการจ่ายเงินประกันสังคมและประกันสุขภาพผู้สูงอายุเพียงแค่ครึ่งเดียวและอีกครึ่งหนึ่งบริษัทจ่ายแทนให้

3. ภาษีการจ้างงาน (Employment taxes)
ภาษีที่เกี่ยวกับการจ้างงานคือ ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย เงินประกันสังคม(Social Security) เงินประกันสุขภาพผู้สูงอายุ (Medicare) เงินประกันการว่างงาน

ถ้าธุรกิจมีการจ้างงานซึ่งรวมไปถึงการจ้างเจ้าของธุรกิจเป็นพนักงานด้วยนั้น ธุรกิจต้องมีการยื่นแบบและเอกสารที่เกี่ยวข้องกับการจ้างพนักงานให้กับ IRS ที่แยกออกไปจากการยื่นภาษีเงินได้ข้างต้น

– พนักงานใหม่ทุกคนจะต้องกรอกแบบ W-4 เพื่อธุรกิจจะนำไปคำนวณภาษีหัก ณ ที่จ่ายออกจากค่าจ้างหรือเงินเดือน (W-4 คือแบบที่แสดงภาษีที่ธุรกิจจะหัก ณ ที่จ่ายออกจากเงินเดือนพนักงาน)
– ธุรกิจยื่นแบบ 941 ในทุกไตรมาส หรือถ้าคำนวณแล้วว่าจะมีการเสียภาษีน้อยกว่า $2,500 สำหรับปีนั้น สามารถยื่นแบบ 944 เป็นรายปีแทนได้ (แสดงข้อมูล เงินประกันสังคม ประกันสุขภาพผู้สูงอายุ และภาษีเงินได้ หัก ณ ที่จ่าย)
– ธุรกิจยื่นแบบ 940 ทุกปี (แสดงข้อมูลเงินประกันการว่างงาน (FUTA))
– ยื่นแบบ W-2 และ W-3 ทุกปี (W-2 แสดงข้อมูลเงินเดือน รายได้อื่นๆที่จ่ายให้พนักงานทั้งปี หักด้วยภาษี เงินประกันสังคม เงินประกันต่างๆ ทั้งของระดับรัฐบาลกลางและรัฐ ส่วน W-3 คือแบบให้แก่สำนักงานประกันสังคม)

เงินประกันการว่างงาน (federal unemployment tax act หรือ FUTA) ในปีภาษี 2562 อยู่ที่ 6.2% ของ $7,000 แรกที่บริษัทจ่ายให้กับพนักงาน โดยปกติแล้วบริษัทสามารถขอเครดิตภาษีนี้คืนได้ส่วนนึง หากบริษัทจ่ายเงินประกันการว่างงานให้กับรัฐแล้ว (state unemployment tax)

ขั้นตอนข้างต้น เป็นหลักการทั่วไป ธุรกิจอาจมีความจำเป็นต้องยื่นภาษีที่เกี่ยวกับการจ้างงานที่นอกเหนือจากนี้ การทำเงินเดือน (payroll) รวมไปถึงภาษีต่างๆที่เกี่ยวข้อง ค่อนข่างมีความยุ่งยากซับซ้อน ผู้ประกอบการอาจเลือกขอคำปรึกษาหรือใช้ซอฟต์แวร์การทำเงินเดือน เช่น Gusto, QuickBooks, Intuit Payroll, Xero, Patriot Payroll, หรือ Payroll4Free เป็นต้น

 

4. ภาษีโดยประมาณ (Estimated taxes)
ธุรกิจจำเป็นต้องจ่ายภาษีโดยประมาณในทุกๆไตรมาสให้กับ IRS ถ้ามีการประมาณไว้ว่าภาษีที่ต้องจ่ายให้แก่รัฐบาลกลาง (federal taxes) ของธุรกิจในปีนั้นทั้งปี มีจำนวนมากกว่า $500 สำหรับบริษัทแบบ Corporation และ มากกว่า $1000 สำหรับผู้ประกอบการที่มีธุรกิจลักษณะกิจการเจ้าของคนเดียว บริษัทจำกัด LLC ห้างหุ้นส่วน หรือบริษัทแบบ S Corp

โดยภาษีโดยประมาณนี้ไม่ได้หมายถึงแค่ภาษีเงินได้ แต่ยังรวมถึงภาษีอื่นๆด้วย เช่น ภาษีผู้รับจ้างงานอิสระ (self-employment tax)

5. ภาษีสรรพสามิต (Excise Tax)
ภาษีสรรพสามิตคือภาษีการขายเฉพาะที่เรียกเก็บจากสินค้าและบริการบางประเภทเช่น น้ำมัน การพนัน หรือการใช้รถบรรทุกขนาดใหญ่บนถนน ภาษีสรรพสามิตส่วนใหญ่จะถูกรวมไปในราคาขายสินค้าแล้ว

ตารางสรุปภาษีและแบบที่ต้องยื่นกับ IRS

ภาษีระดับรัฐ (State Taxes)

ธุรกิจต้องเสียภาษีตามกฎหมายที่กำหนดโดยรัฐบาลระดับรัฐและระดับท้องถิ่นในพื้นที่ที่ธุรกิจจดทะเบียนบริษัทหรือประกอบธุรกิจ ภาษีที่เรียกเก็บในระดับรัฐและท้องถิ่นนั้นมีความแตกต่างกันไปตามพื้นที่

ภาษีที่เรียกเก็บในระดับรัฐมีหลายประเภท เช่น ภาษีเงินได้ (income tax) ภาษีแฟรนไชส์ (franchise tax) ภาษีการขาย (sales tax) ภาษีการจ้างงาน (employer taxes) ภาษีสรรพสามิต (excise tax) เป็นต้น

โดยทั่วไปธุรกิจจะต้องทำการจดทะเบียนเพื่อเสียภาษีกับหน่วยงานที่รับผิดชอบเรื่องภาษีของรัฐนั้นๆก่อน แล้วรัฐจะส่งเอกสารรวมถึงวันที่ที่ต้องทำการยื่นภาษีและรายละเอียดอื่นๆมาให้ ภาษีระดับรัฐอาจมีความยุ่งยากเนื่องจากมีหลายประเภท ธุรกิจควรติดต่อกับหน่วยงานรัฐบาลของรัฐนั้นๆโดยตรง

ภาพข้างล่างนี้แสดงถึงการจัดเก็บภาษีของธุรกิจในแต่ละรัฐ โดยรัฐที่มีสีเขียวหมายถึง 10 รัฐที่เอื้อประโยชน์ด้านภาษีให้แก่ธุรกิจมากที่สุด และรัฐที่เป็นสีแดงหมายถึง 10 รัฐที่เอื้อประโยชน์ด้านภาษีให้แก่ธุรกิจน้อยที่สุด

 

ภาษีเงินได้ระดับรัฐ
นอกจากภาษีเงินได้ที่ต้องจ่ายให้กับรัฐบาลกลางแล้ว ธุรกิจยังต้องจ่ายภาษีให้กับรัฐบาลระดับรัฐและระดับท้องถิ่นอีกด้วย ในทุกรัฐ (ยกเว้นเซาท์ดาโคตา และ ไวโอมิง) มีการเก็บภาษีเงินได้ของธุรกิจ โดยวิธีการเก็บแบ่งเป็น 3 รูปแบบหลักๆดังนี้
1. Corporate income tax ในหลายๆรัฐ บริษัทรูปแบบ C corporation ต้องจ่ายภาษีเงินได้ของธุรกิจประมาณ 4% ถึง 9% ของรายได้สุทธิ
2. Gross receipts tax รัฐจำนวนไม่มาก (เช่นเทกซัส และ วอชิงตัน) คิดภาษีจากจำนวนเงินที่ได้รับรวมหรือยอดขายรวมแทนการคำนวณจากรายรับสุทธิ (รายรับหักรายจ่าย)
3. Franchise tax ในบางรัฐมีการคิดภาษีที่เรียกว่า franchise tax เพิ่มจากหรือแทนที่ income tax หรือ gross receipt tax ซึ่ง franchise tax นั้นคือภาษีที่รัฐอนุญาตให้สามารถจัดตั้งธุรกิจและสามารถประกอบการในรัฐนั้นได้ โดยส่วนใหญ่ franchise tax จะคำนวณจากมูลค่าหุ้นหรือสินทรัพย์ของธุรกิจ ซึ่งมีอัตราอยู่ที่ประมาณ 0.1% ถึง 0.9%

แม้ว่าในบางรัฐไม่มีภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ธุรกิจอาจยังจำเป็นต้องจ่ายภาษีเงินได้ ตัวอย่างเช่น รัฐนิวแฮมป์เชียร์ ไม่มีการคิดภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา แต่มีภาษีเงินได้ของธุรกิจ (corporate income tax) และ franchise tax

ภาษีการขาย (sales tax)
รัฐบาลกลางไม่มีการเรียกเก็บภาษีการขาย แต่รัฐบาลของ 45 รัฐและรัฐบาลท้องถิ่นในหลายๆพื้นที่มีการเรียกเก็บภาษีการขาย ผู้ประกอบการจะต้องทำการคำนวณ เก็บ และรายงานภาษีการขายให้กับรัฐบาลของท้องถิ่นและของรัฐ ลูกค้าเป็นผู้จ่ายภาษีการขาย ณ เวลาที่ทำการซื้อสินค้าหรือบริการ

ในบางกรณีผู้ขายสินค้าออนไลน์อาจต้องเก็บและรายงานภาษีการขายของลูกค้าต่างรัฐด้วย ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับกฎหมายของรัฐว่าเก็บภาษีการขายเป็นแบบ original-based state หรือ destination-based state สำหรับรัฐที่เก็บภาษีการขายแบบ original-based state เช่นเทกซัส หรือเพนซิลเวเนีย ภาษีการขายจะขึ้นอยู่กับว่าธุรกิจหรือร้านค้าประกอบการอยู่ที่ไหน ในขณะที่การเก็บภาษีการขายแบบ destination-based state เช่น ฟลอริดา หรือ นิวยอร์ก จะขึ้นอยู่กับว่าลูกค้าอยู่ที่ไหน

นอกจากนี้ภายในรัฐเดียวกันนั้น อัตราภาษีการขายอาจมีความแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับรัฐบาลของท้องถิ่น เช่น เมือง ที่ธุรกิจประกอบการ และยังขึ้นกับประเภทของสินค้าที่ขายอีกด้วย

ภาษีอสังหาริมทรัพย์ (property tax)
ภาษีอสังหาริมทรัพย์คือภาษีที่เกิดขึ้นเมื่อธุรกิจเป็นเจ้าของ อาคาร ที่ดิน หรืออสังหาริมทรัพย์อื่นๆ ธุรกิจต้องจ่ายภาษีให้กับรัฐหรือรัฐบาลท้องถิ่นที่อสังหาริมทรัพย์นั้นตั้งอยู่ อัตราของภาษีอสังหาริมทรัพย์นั้นแตกต่างกันไปตามรัฐและเมืองที่ธุรกิจตั้งอยู่

ภาษีการจ้างงาน(employment tax)
รัฐบาลระดับรัฐและระดับท้องถิ่นในหลายพื้นที่ มีการเก็บภาษีที่เกียวกับการจ้างงานด้วย ซึ่งภาษีในส่วนนี้มีความแตกต่างกันไปในแต่ละรัฐ ตัวอย่างของภาษีการจ้างงานคือ เงินประกันการว่างงาน ค่าชดเชยหรือสินไหมทดแทนการว่างงาน เงินประกันตนผู้พิการ เป็นต้น

อัตราภาษีที่เรียกเก็บส่วนใหญ่ขึ้นอยู่กับขนาดของธุรกิจ อายุในการดำเนินงานของธุรกิจ ประเภทอุตสาหกรรมที่ธุรกิจประกอบการ อัตราการเปลี่ยนงานในบริษัท และมีอดีตพนักงานของบริษัทสมัครขอรับประโยชน์เพื่อคนว่างงานมากน้อยเพียงใด

การทำรายงานประจำปี (Annual Report)

รายงานประจำปีนั้นเป็นสิ่งธุรกิจใช้แจ้งรัฐว่ามีการปรับปรุง หรือเปลี่ยนแปลงใดๆบ้าง เช่น เปลี่ยนที่อยู่ เปลี่ยนผู้ถือหุ้น เป็นต้น การทำรายงานประจำปีมีค่าธรรมเนียมและมีการยื่นเอกสารที่นอกเหนือไปจากภาษีระดับรัฐบาลกลางหรือระดับรัฐ

ในหลายๆรัฐมีการกำหนดให้ธุรกิจต้องยื่นรายงานประจำปีทุกปี (annual) หรือทุก 2 ปี (biennial) เพื่อเป็นการจ้างให้รัฐทราบว่าธุรกิจในปัจจุบันมีใครเป็นตัวแทนรับจดทะเบียน (registered agent) ผู้บริหาร ผู้ถือหุ้น รวมไปถึงที่อยู่ของบริษัท การยื่นรายงาน Annual report นี้บางครั้งอาจเรียกว่า State Franchise หรือ Other Tax ซึ่งเอกสารที่ใช้ยื่นก็มีการเรียกที่แตกต่างกันไปเช่น Annual report, Annual list หรือ Statement of Information เป็นต้น

การยื่นรายงานนี้ต้องทำทั้งในรัฐที่ธุรกิจตั้งอยู่ (รัฐที่ทำการจดทะเบียนจัดตั้ง) และรัฐที่ธุรกิจมีสถานะเป็นบริษัทที่มาจากต่างรัฐ (foreign) ซึ่งคือรัฐที่เข้าไปทำธุรกิจ

การไม่ยื่นรายงานประจำปี หรือยื่นเลยเวลาที่กำหนดอาจมีผลถึงขั้นที่จะต้องเลิกประกอบการในนามของธุรกิจนั้น

ภาษีที่เกี่ยวกับการประกอบธุรกิจของผู้ที่ไม่มีสถานะเป็นผู้อาศัยอยู่ในสหรัฐฯ (non-US resident) หรือผู้ที่ไม่มีสัญชาติสหรัฐฯ (non-US citizen)

– ภาษีที่จ่ายให้กับรัฐบาลกลาง (federal taxes) ไม่ว่าธุรกิจจะประกอบการที่รัฐใดก็ตาม ผู้ประกอบการจำเป็นต้องยื่นภาษีที่เป็นระดับรัฐบาลกลาง สำหรับภาษีเงินได้สามารถดูได้ในบทความข้างต้น อย่างไรก็ดี สหรัฐฯ มีอนุสัญญาว่าด้วยเรื่องการเก็บภาษีกับประเทศไทย (Income Tax Treaty)
– ภาษีที่จ่ายให้กับรัฐบาลระดับรัฐ (state taxes) การจัดเก็บภาษีขึ้นอยู่กับรัฐที่ธุรกิจประกอบการ ธุรกิจอาจต้องเสียภาษีหลากหลายประเภทที่จัดเก็บโดยรัฐบาลระดับรัฐ
– การทำรายงานประจำปี (Annual Report) ธุรกิจจำเป็นต้องยื่นรายงานที่เป็นระบุข้อมูลต่างๆเกี่ยวกับธุรกิจ เช่นที่อยู่ ผู้ถือหุ้น เป็นประจำทุกปี
– เลขประจำตัวนายจ้าง (EIN) สามารถขอได้จาก IRS ธุรกิจใช้ตัวเลขนี้เป็นรหัสประจำตัวของธุรกิจ และนอกจากเลข EIN แล้ว ผู้ประกอบการที่ไม่มีเลขประกันสังคม (SSN) หรือไม่สามารถขอเลขประกันสังคมได้ จะต้องขอเลข ITIN ซึ่งคือเลขประจำตัวผู้เสียภาษีบุคคลธรรมดาเพื่อนำมาใช้เวลายื่นภาษีอีกด้วย

อนุสัญญาว่าด้วยเรื่องการเก็บภาษี (Income Tax Treaty)
สหรัฐฯ มีอนุสัญญาว่าด้วยเรื่องการเก็บภาษีกับประเทศไทย (Income Tax Treaty) ซึ่งช่วยเหลือผู้ลงทุนไทยในสหรัฐฯ ในการลดหย่อนภาษีที่จะต้องจ่ายให้รัฐบาลของทั้ง 2 ประเทศ โดยสนธิสัญญานี้มีจุดประสงค์เพื่อ
1. ส่งเสริมการลงทุนในต่างประเทศหรือเพื่อช่วยเหลือผู้ลงทุนสหรัฐฯ ในต่างแดน
2. เพื่อหลีกเลี่ยงการเก็บภาษีซ้อน (double taxation) และ
3. ป้องกันการหลีกเลี่ยงภาษีเงินได้ (income tax) โดยรัฐบาลท้องถิ่นของแต่ละรัฐสามารถนําข้อมูลของผู้เสียภาษีมาเผยแพร่ให้กันและกันได้ ทั้งนี้ สนธิสัญญานี้จะบังคับใช้กับพลเมืองของไทยและสหรัฐฯ เท่านั้น

สนธิสัญญานี้มีผลบังคับใช้กับภาษีเงินได้เท่านั้น โดยจะยกเว้นภาษีเงินประกันสังคม (social security tax) ที่เก็บโดยรัฐบาลของสหรัฐฯ อย่างไรก็ตาม สนธิสัญญาจะรวมถึงภาษีทั่วไปอื่นๆ และภาษีนํ้ามันปิโตรเลียมในส่วนของไทย

อ่านเพิ่มเติมที่:

www.irs.gov/businesses/international-businesses/thailand-tax-treaty-documents

www.rd.go.th/publish/2664.0.html

การยื่นภาษี
ระบบภาษีในสหรัฐฯมีความยุ่งยาก ซับซ้อนดังที่เห็นได้จากที่กล่าวมาแล้วข้างต้น ธุรกิจในสหรัฐฯจึงนิยมใช้บริการการทำภาษีจากบริษัทที่ให้บริการด้านนี้โดยเฉพาะ หรือจากนักบัญชีที่ได้รับอนุญาต (CPA) นอกจากนี้ผู้ประกอบการยังสามารถใช้บริการจากซอฟต์แวร์ที่เป็นที่นิยมของธุรกิจขนาดเล็กเช่น TurboTax, H&R Block, TaxAct เป็นต้น

ที่มา

https://www.irs.gov/businesses/small-businesses-self-employed

https://www.sba.gov/business-guide/manage-your-business/pay-taxes

https://www.mycompanyworks.com/taxes/

https://www.fundera.com/blog/small-business-tax-rate

Go to Top