สินค้าเกษตร2022-09-23T09:47:58-04:00

สินค้าเกษตร

ผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรแบบปลอดสารพิษ

ประเทศไทยเป็นผู้ส่งออกอาหารปลอดสารพิษอันดับหนึ่งในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในปี 2553 ตลาดสินค้าทางการเกษตรแบบปลอดสารพิษของไทยทำรายได้มากกว่า 200 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยคิดเป็นมูลค่าการส่งออก 120 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และมูลค่าจากการบริโภคภายในประเทศ 80 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยสหรัฐฯ เป็นหนึ่งในตลาดส่งออกสินค้าปลอดสารพิษหลักของไทย ซึ่งสินค้าหลักๆ ได้แก่ ข้าวซ้อมมือกระป๋อง ผลไม้แปรรูป กาแฟ และชา นอกจากนี้ ธุรกิจทางการบริการต่างๆ เช่น โรงแรม สปา การท่องเที่ยว และร้านอาหาร ได้หันมาใช้ผลิตภัณฑ์ปลอดสารพิษเพิ่มขึ้น จึงส่งผลให้ตลาดของสินค้าประเภทนี้ขยายตัวขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ปัจจุบัน พื้นที่ทางการเพาะปลูกผลผลิตทางการเกษตรแบบปลอดสารพิษมีเนื้อที่ประมาณ 18,895 เฮคเตอร์ และมีแผนที่จะขยายเพิ่มอีก 3,200 เฮคเตอร์ในสามภูมิภาค โดยมุ่งเน้นผลิตผลเหล่านี้คือ

  • ข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้ (Thai Jasmine rice) ครอบคลุมพื้นที่หลักในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้แก่ จังหวัดร้อยเอ็ด มหาสารคาม สุรินทร์ ยโสธร และศรีสะเกษ

  • ข้าวหอมมะลิที่เพาะปลูกในภาคเหนือ และตะวันออกเฉียงเหนือของไทย

  • ข้าวแสงยอดพัทลุง ข้าวเล็บนกปัตตานี ข้าวหอมกระดังงานราธิวาส และข้าวหลวงประทิว(ข้าวประเภทพิเศษ) เพาะปลูกในภาคใต้ของประเทศ

  • ผัก ผลไม้ ชา และสมุนไพรที่เพาะปลูกในภาคเหนือของไทย

  • ปศุสัตว์ เนื้อวัว โคนม กระบือ สุกร แพะ ไก่ และเป็ด ทั้งเพื่อการบริโภคเนื้อและไข่

  • การประมงน้ำจืด เช่น ปลานิล ปลากระดี่ และกบ

นอกจากนี้ผลิตภัณฑ์ปลอดสารพิษยังรวมไปถึงผลิตผลที่ไม่ใช่อาหาร อาทิเช่น ฝ้าย ผลิตภัณฑ์เสริมความงาม และของเล่น

ผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรเพื่อการบริโภค

ผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรเพื่อการบริโภคเป็นส่วนสำคัญอย่างยิ่งของเศรษฐกิจไทย โดยประเทศไทยติดอันดับหนึ่งในสิบของผู้ผลิตและส่งออกอาหารของโลก ซึ่งอุตสาหกรรมทางด้านอาหารคิดเป็นร้อยละ 28 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ ความเลื่องชื่อของอาหารไทยนี่เองจึงเป็นที่มาของฉายา “ครัวของโลก”

ความอุดมสมบูรณ์ทางทรัพยากรของประเทศไทย บวกกับสภาพภูมิอากาศที่เหมาะสมกับการเพาะปลูกทั้งปี อีกทั้งแรงงานที่มีคุณภาพ ทำให้ประเทศไทยได้เปรียบในตลาดอาหารโลก ในปี พ.ศ. 2552  ประเทศไทยส่งออกผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรเพื่อการบริโภคไปทั่วโลกมากกว่าหนึ่งหมื่นเจ็ดพันล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยจำนวนนี้คิดเป็นการส่งออกไปสู่สหรัฐฯ มูลค่าสองพันห้าร้อยล้านดอลลาร์สหรัฐ ทั้งนี้ ผลิตภัณฑ์อาหารไทยที่ส่งออกหลักๆ ได้แก่

2.1 ข้าว

“ข้าวไทย” เป็นสินค้าที่สร้างชื่อเสียงให้กับประเทศไทยมาอย่างต่อเนื่องในฐานะผู้ผลิตและส่งออกข้าวหอมมะลิคุณภาพอันดับหนึ่งของโลกต่อเนื่องมาเป็นเวลาหลายปี โดยข้าวและผลิตภัณฑ์แปลรูปจากข้าว เช่น เส้นก๋วยเตี๋ยว ข้าวเสริมวิตามิน ข้าวหุงสำเร็จรูปแช่แข็ง และขนมกรุบกรอบที่ผลิตจากข้าวมียอดส่งออกทั้งหมดทั่วโลกกว่า 6.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ต่อปี

และถึงแม้ในระยะหลัง “ข้าวไทย” จะต้องเผชิญกับการแข่งขันที่สูงขึ้นในตลาดโลก ไม่ว่าจะเป็นด้านปริมาณการผลิตและราคาของประเทศคู่แข่งสำคัญ เช่น เวียดนาม หรือแม้กระทั่งการพัฒนาพันธุ์ข้าวของสหรัฐฯ เพื่อแข่งขันกับข้าวหอมมะลิไทยโดยเฉพาะ รวมทั้งมาตรการกีดกันทางการค้าที่เกิดขึ้นในหลายประเทศ แต่ “ข้าวไทย” ก็ยังคงเป็นที่ต้องการของตลาดโลก ซึ่งหากพิจารณาตลาดส่งออกข้าวไทยรายภูมิภาคจะพบว่า ตลาดสำคัญยังคงอยู่ในทวีปเอเชีย ทั้งเอเชียตะวันออก เอเชียใต้ รวมถึงตะวันออกกลางและแอฟริกา นอกจากนี้ ยังกระจายไปในยุโรป อเมริกา และประเทศในแถบแปซิฟิกใต้

ทั้งนี้ ปัจจัยที่ทำให้ข้าวไทยมีศักยภาพในการส่งออกไปเจาะตลาดต่างๆ ทั่วโลก คือชื่อเสียงของประเทศไทยในฐานะที่เป็นผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่ของโลกประกอบกับข้าวหอมมะลิไทยมีคุณภาพด้านรสชาติและความหอมที่เป็นเอกลักษณ์ ถูกปากของผู้บริโภค โดยเฉพาะผู้บริโภคชาวเอเชียซึ่งบริโภคข้าวเป็นอาหารหลัก รวมถึงประเทศที่สามารถปลูกข้าวเองได้แต่ยังมีกำลังการผลิตไม่เพียงพอต่อความต้องการภายในประเทศ อาทิ บังคลาเทศ โอมาน ไนจีเรีย นอกจากนี้ ข้าวไทยยังมีโอกาสสูงในการเจาะตลาดต่างประเทศที่แม้ประชากรส่วนใหญ่จะไม่ได้บริโภคข้าวเป็นอาหารหลัก แต่ข้าวไทยก็ถือเป็นสินค้า Premium สำหรับผู้มีรายได้ดีในสหรัฐฯ และสหภาพยุโรป

2.2 กุ้ง

ในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยส่งออกกุ้งสู่สหรัฐฯ มากกว่าประเทศใดๆ ในโลก โดยคิดเป็นมูลค่ากว่า 1.28 พันล้านดอลล่าร์สหรัฐ ต่อปี สาเหตุที่กุ้งจากไทยได้รับความนิยมในหมู่ผู้บริโภคในสหรัฐฯ นั้น เนื่องจากกุ้งของไทยมีคุณภาพสูง อีกทั้งมีราคาที่ไม่สูงจนเกินไป ด้วยเหตุนี้ประเทศไทยจึงเป็นแหล่งนำเข้ากุ้งอันดับหนึ่งของสหรัฐฯ ตลอดสิบปีที่ผ่านมา

2.3 ผักและผลไม้

ผักและผลไม้ นับเป็นสินค้าส่งออกที่ทำรายได้ให้กับประเทศไทยอย่างมหาศาล โดยในแต่ละปีไทยมียอดการส่งออกผัก ผลไม้ ทั้งรูปของสด แช่เย็น แช่แข็ง และแห้ง รวม 3-4 หมื่นล้านบาทต่อปี และมีอัตราการเติบโตเฉลี่ย 15-20% ซึ่งเป็นเพราะผลผลิตผักผลไม้ของไทยมีความหลากหลาย และต่อเนื่องตลอดปี ทำให้มีความได้เปรียบด้านประเภทสินค้า และมีความยืดหยุ่นด้านปริมาณการส่งออก ทั้งยังเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพ รสชาติดีเป็นที่นิยม และได้รับการยอมรับจากผู้บริโภคในต่างประเทศ

ทั้งนี้ ตลาดส่งออกที่สำคัญของสินค้าผักและผลไม้ไทย ได้แก่ จีน เวียดนาม อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น และฮ่องกง คิดเป็นสัดส่วนรวม 79% ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมด ขณะเดียวกันก็มีตลาดอื่นที่มีอัตราการขยายตัวสูง เช่น พม่า ที่ตลาดมีการขยายตัวถึง 45% และเกาหลีใต้ ที่ตลาดมีการขยายตัวอยู่ที่ 20%

สำหรับตลาดในสหรัฐฯ นั้น ผลไม้ไทยที่เป็นที่ต้องการของตลาดสหรัฐฯ ได้แก่ มังคุด, ลำไย และเงาะ นอกจากนี้ มะพร้าวอ่อนและน้ำผลไม้กระป๋องเพื่อสุขภาพ เช่น น้ำลำไย, น้ำมังคุด, หรือน้ำผลไม้เพื่อสุขภาพจากโครงการหลวง ก็มีการส่งไปจำหน่ายในสหรัฐฯ เช่นกัน และมีศักยภาพที่จะขยายตัวได้ แต่ยังไม่เป็นที่แพร่หลายเท่าที่ควร ส่วนมะม่วงจากไทยยังไม่สามารถแข่งขันกับมะม่วงจากเม็กซิโกได้ เนื่องจากต้นทุนค่าขนส่งทางอากาศที่สูงและคุณภาพมะม่วงที่ไม่มีความทนทานกับการขนส่งที่ใช้เวลาทางเรือได้

ทั้งนี้ หากท่านสนใจในแนวโน้มของตลาดผลไม้เมืองร้อนในสหรัฐฯ โปรดอ่านรายงานของสำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ โดยไปที่ URL ข้างล่างนี้

http://wdemo5.globescope.com/sites/default/files/documents/Report-Tropical%20Fruit%20in%20the%20U.S.%20Market_0.pdf

2.4 น้ำตาล

ประเทศไทยนั้นถือเป็นผู้ส่งออกผลผลิตจากอ้อย และน้ำตาลทรายเป็นอันดับ 1 ของอาเซียน โดยปัจจุบันประเทศไทยมีโรงงานน้ำตาลอยู่กว่า 40 แห่ง กระจายอยู่ตามแหล่งปลูกอ้อย ซึ่งเป็นวัตถุดิบในกระบวนการผลิต จนกลายเป็นผลผลิตน้ำตาลทรายราว 80 ล้านกระสอบต่อปี ซึ่งคนไทยมีการบริโภคน้ำตาลเฉลี่ย 30 กิโลกรัม/คน/ปี โดยในเดือนพฤศจิกายน – ธันวาคม 2555 มีการบริโภคน้ำตาลทรายในประเทศจำนวน 450,621.70 ตัน ในขณะที่การบริโภคในต่างประเทศอยู่ระหว่าง 10-70 กิโลกรัม/คน/ปี คิดเป็นการบริโภคโดยรวมตั้งแต่เดือนมกราคม – ธันวาคม 2555 จำนวนทั้งสิ้นกว่า 2 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 4% ส่วนการส่งออกน้ำตาลของไทยสู่สหรัฐฯ นั้น สหรัฐฯ นำเข้าน้ำตาลจากประเทศไทยเป็นมูลค่าราว 17 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ต่อปี เปรียบเทียบกับจำนวนส่งออกน้ำตาลของไทยทั้งหมด 1.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ทั่วโลก

น้ำตาล ถือเป็นสินค้าโภคภัณฑ์ (Commodity goods) ที่มีความเคลื่อนไหวของราคาที่อิงราคาตลาดโลก ทั้งนี้คาดว่าในอนาคตราคาน้ำตาลทรายดิบจะปรับราคาสูงขึ้น อยู่ที่ราคา 18.80-18.85 เซนต์ต่อปอนด์ จากเดิมที่ราคา 18.5 เซนต์ต่อปอนด์ เนื่องจากผลผลิตที่ออกมาจำนวนที่ลดลงจากสภาพอากาศร้อน แต่ความต้องการของผู้บริโภคในตลาดที่มีอย่างต่อเนื่อง

2.5 อาหารแปรรูป หรืออาหารกระป๋อง

ประเทศไทยเป็นผู้ส่งออกอาหารรายใหญ่ของโลก โดยปัจจุบันมีมูลค่าการส่งออกสูงถึง 9.6 – 9.6 แสนล้านบาทต่อปี ซึ่งนอกเหนือจากการส่งออกข้าว กุ้ง และน้ำตาลทรายแล้ว ประเทศไทยยังมีการส่งออกอาหารกระป๋อง และแปรรูปเป็นจำนวนมากอีกด้วย โดยสหรัฐฯ เป็นตลาดหลักของไทยในการส่งออกสินค้าประเภทปลาทูน่ากระป๋อง ไม่ว่าจะเป็นปลาทูน่าในน้ำมันพืช และปลาทูน่าในน้ำเกลือ มีสัดส่วน 23% ของมูลค่าการส่งออกทูน่าแปรรูปทั้งหมดของไทย ซึ่งไทยครองส่วนแบ่งตลาดมากกว่า 50% นอกจากนี้ สหรัฐฯ ยังเป็นแหล่งส่งออกสำคัญของอาหารประเภทผักและผลไม้แปรรูปของไทย โดยแต่ละปีไทยทำรายได้มูลค่ากว่า 3 หมื่นล้านบาทจากการส่งออกผลิตภัณฑ์ประเภทดังกล่าว ทั้งนี้เป็นผลมาจากจุดแข็งของประเทศไทยที่มีสถานะเป็นผู้ผลิตและส่งออกสินค้าผักผลไม้กระป๋องรายใหญ่ของโลก โดยเฉพาะการส่งออกสินค้าสับปะรดกระป๋อง และน้ำสับปะรด ประกอบกับมีโรงงานผลิตได้มาตรฐานอาหารปลอดภัยตามมาตรฐานสากล ไม่ว่าจะเป็น มาตรฐาน HACCP และ GMP ทำให้สินค้าได้รับการยอมรับในระดับโลก

ผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรอื่นๆ

3.1 กล้วยไม้กล้วยไม้ในตลาดสหรัฐฯ มีหลากหลายชนิดด้วยกัน แต่ที่เป็นที่นิยมและมีจำหน่ายแพร่หลายจนเรียกได้ว่าเป็น Mass Market Orchid มีอยู่ 3 สายพันธุ์คือ กล้วยไม้ตระกูล Dendrobium กล้วยไม้ตระกูล Phalaenopsis และกล้วยไม้ตระกูล Cymbidiums โดยตลาดที่สำคัญของการบริโภคกล้วยไม้ในสหรัฐฯ คือฝั่งภาคตะวันตกและภาคใต้ของสหรัฐฯ โดยในระยะสิบปีที่ผ่านมาความนิยมบริโภคกล้วยไม้ในสหรัฐฯ เติบโตอย่างรวดเร็ว โดยฤดูกาลที่ยอดขายกล้วยไม้สูงสูดคือช่วงวันคริสต์มาส, วันแม่ (ของสหรัฐฯ ซึ่งตรงกับเดือน พ.ค. ของแต่ละปี), วันวาเลนไทน์, วันอีสเตอร์, และวันขอบคุณพระเจ้า (Thanksgiving) ตามลำดับสินค้ากล้วยไม้ตัดดอกในตลาดสหรัฐฯ มีระดับที่คงที่มาโดยตลอด นอกจากนี้ตลาดกล้วยไม้ของสหรัฐฯ ยังมีการขยายตัวอย่างรวดเร็วซึ่งประมาณการณ์ว่าตลาดกล้วยไม้ของสหรัฐฯ ในปัจจุบันมีมูลค่าเกินกว่า 160 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ต่อปี ซึ่งนอกจากการเพาะปลูกในสหรัฐฯแล้ว สหรัฐฯ ยังเป็นประเทศที่มีการนำเข้ากล้วยไม้มากที่สุดในโลก โดยประเทศไทยเป็นแหล่งอุปทานนำเข้ากล้วยไม้ตัดดอกอันดับหนึ่งของสหรัฐ และเป็นอันดับ 4 สำหรับต้นกล้วยไม้ รวมยอดการส่งออกกล้วยไม้ไทยสู่สหรัฐฯ ในปี 2555 เป็นมูลค่า 6.63 และ 2.66 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ตามลำดับ

Photo credit : www.pixabay.com

3.2 ยางพารา

ประเทศไทยเป็นผู้ผลิตยางธรรมชาติรายใหญ่ที่สุดของโลกต่อเนื่องมานานกว่า 20 ปี โดยมีการผลิตอยู่ที่ 3.82 ล้านตันต่อปี รองลงมาคือประเทศอินโดนีเซีย 2.54 ล้านตัน ประเทศเวียดนาม 1.31 ล้านตัน ประเทศจีน 1.29 ล้านตัน และประเทศอินเดีย 1.18 ล้านตัน โดยยางพาราที่ไทยสามารถผลิตได้ไม่ว่าจะเป็นยางแผ่นรมควัน ยางแท่ง ยางเครป ยางผึ่งแห้ง หรือน้ำยางข้น ถือเป็นวัตถุดิบสำคัญในการผลิตผลิตภัณฑ์สำเร็จรูปอื่น ๆ เช่น ยางรถยนต์ ถุงมือยาง ท่อยาง เป็นต้น

สำหรับโอกาสในการส่งออกยางพาราไทยนั้น นับว่ามีอนาคตที่ค่อนข้างสดใสทีเดียว เนื่องจากทิศทางของอุตสาหกรรมต่อเนื่อง อาทิ อุตสาหกรรมยานยนต์ อุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ยางสำเร็จรูปต่างๆ กำลังขยายตัวอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะตลาดในเอเชีย ได้แก่ จีน อินเดีย ญี่ปุ่น และอาเซียน ซึ่งองค์กรยางระหว่างประเทศ (IRSG) คาดการณ์ว่าในปี 2563 ตลาดโลกจะมีความต้องการยางพารา 15.36 ล้านตัน โดยประเทศที่มีแนวโน้มจะใช้ยางธรรมชาติสูงเป็นอันดับหนึ่งคือ ประเทศจีน 6.39 ล้านตัน รองลงมาคือประเทศอินเดีย 1.94 ล้านตัน สหรัฐฯ  946,000 ตัน และประเทศญี่ปุ่น 795,000 ตัน

สหรัฐฯ เป็นตลาดใหญ่ที่สินค้าในกลุ่มยางพาราและผลิตภัณฑ์จากยางพารามีอัตราการขยายตัวเฉลี่ยถึง 29 – 40% วัตถุประสงค์หลักในการนำเข้ายางพาราจากไทยก็เพื่อใช้ในอุตสาหกรรมผลิตรองเท้า ยางรถยนต์ และยางรถจักรยานยนต์ เป็นต้น

Go to Top