สิ่งที่คนทั่วโลกต่างจับตามองหลังจากที่นายโจ ไบเดน ได้เข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีคนที่ 46 ของสหรัฐอเมริกาอย่างเป็นทางการไปเมื่อวันที่ 20 ม.ค. ที่ผ่านมาก็คือ เรื่องการแก้เกมเศรษฐกิจเพื่อกอบกู้ความเป็นผู้นำทางด้านเศรษฐกิจโลกกลับคืนมา
โดยเมื่อวันที่ 25 ม.ค. ไบเดนได้ลงนามในคำสั่งประธานาธิบดีซึ่งมีชื่อว่า “Buy American” เพื่อสร้างความเชื่อมั่นว่า รัฐบาลกลางสหรัฐฯ จะใช้จ่ายเงินภาษีของประชาชนไปกับสินค้าที่ผลิตในสหรัฐฯ และถือเป็นความพยายามที่จะกระตุ้นอุตสาหกรรมการผลิตภายในประเทศให้กลับมาเติบโตอีกครั้ง
ประธานาธิบดีไบเดน เล็งเห็นแล้วว่า การใช้นโยบาย America First ไม่สามารถแก้ปัญหาเศรษฐกิจได้ ไบเดนและพรรคเดโมแครตจึงเสนอนโยบายด้วยการใช้เศรษฐกิจสีเขียว หรือ Green New Deal ผสมเข้ากับ Buy American ซึ่งจะใช้จ่ายเงินถึง 600,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อสร้างเศรษฐกิจ สร้างตำแหน่งงานใหม่ ๆ จากพลังงานทางเลือก พลังงานสะอาด และมุ่งไปที่เทคโนโลยีดิจิทัลชั้นสูง โดยการปรับเปลี่ยนมาใช้รถยนต์ไฟฟ้า (EV) การสนับสนุนสตาร์ทอัพ และการเสนอขึ้นค่าแรงขั้นต่ำสำหรับเจ้าหน้าที่รัฐจาก 7.25 ดอลลาร์สหรัฐ เป็น 15 ดอลลาร์สหรัฐ
Green New Deal จะเป็นทางเลือกใหม่ ล่าสุดมีการประกาศออกมาแล้วว่า นโยบายต่างประเทศกับความมั่นคงของสหรัฐฯ ในสมัยของไบเดน จะต้องไปพร้อม ๆ กันกับเศรษฐกิจสีเขียว สหรัฐฯ จะกลับสู่ข้อตกลงแบบพหุภาคีที่เคยถอนตัวไปก่อนหน้านี้ แล้วไทยจะได้รับผลกระทบอะไรบ้างจากนโยบายนี้
รองศาสตราจารย์ ดร.สมภพ มานะรังสรรค์ อธิการบดีสถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ ได้กล่าวว่า ผลกระทบที่ประเทศไทยจะได้รับหลังการประกาศใช้ Buy American จะมีอยู่ 3 เรื่อง คือ การจัดซื้อจัดจ้างของรัฐบาลที่ให้ซื้อสินค้าจากผู้ผลิตในสหรัฐฯ เพิ่มมากขึ้น การใช้พลังงานทางเลือก ที่รัฐบาลไทยยังให้การอุดหนุนอยู่ (subsidy) อาจจะกระทบกับราคาพลังงานในอนาคต และอุตสาหกรรมรถยนต์และชิ้นส่วน ที่ประเทศไทยยังเป็นฐานการผลิตรถยนต์แบบเครื่องยนต์สันดาปที่ใช้เชื้อเพลิงจากฟอสซิลอยู่
“จะกระทบกับการส่งออกสินค้าไทยแน่ ทั้งรัฐบาลและผู้ส่งออกจะต้องหันกลับมาดูว่า สินค้าที่ตนเองผลิตนั้นมีการปล่อยคาร์บอนมากน้อยแค่ไหน กระทบสิ่งแวดล้อมหรือไม่ การส่งเสริมอุตสาหกรรมเป้าหมายและอนาคต (S-curve) กระบวนการผลิตสินค้าและตัวสินค้าเหล่านี้ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมหรือไม่ จะต้องกลับมาทบทวนดู เนื่องจากตลาดสหรัฐฯ เป็นตลาดส่งออกสินค้าอันดับหนึ่งของไทยอยู่ในขณะนี้” ดร.สมภพกล่าว
นางสาวพิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า นโยบาย Buy American เป็นนโยบายที่ให้ภาครัฐเพิ่มการจัดซื้อจัดจ้างสินค้าและบริการภายในประเทศเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะสินค้าเหล็กกับอะลูมิเนียมที่จะเป็นวัตถุดิบสำคัญ ซึ่งอาจสร้างแรงกดดันต่อการส่งออกสินค้าประเภทดังกล่าวจากไทยไปยังสหรัฐฯ ได้ โดยสินค้าที่มีความเสี่ยงคือ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์
แต่ก็ใช่ว่านโยบาย Buy American จะส่งผลกระทบไปในทุกด้าน นายยุทธนา ศิลป์สรรวิชช์ นายกสมาคมอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มไทย ให้ความเห็นว่านโยบายเศรษฐกิจของไบเดน น่าจะเป็นผลดีกับการส่งออกเครื่องนุ่งห่มไทย เพราะสินค้าเครื่องนุ่งห่มไม่ได้มีฐานการผลิตในสหรัฐฯ และโดยปกติสหรัฐฯ นำเข้ามากกว่า 95%
นอกจากนี้ สหรัฐฯ เป็นตลาดข้าวหอมมะลิเบอร์ 1 ของไทยและมีการนำเข้าจากไทยปีละประมาณ 500,000 ตัน ร.ต.ท.เจริญ เหล่าธรรมทัศน์ นายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย กล่าวว่า ข้าวไทยไม่ได้ขายเข้าสู่กระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง แต่อาจจะมีผู้นำเข้าข้าวจากไทยบางรายที่นำไปขายให้กับหน่วยงานภาครัฐของสหรัฐฯ ดังนั้น Buy American จะไม่กระทบต่อการส่งออกข้าวไทย