สิ่งทอไทยฟื้นตัว พ้นจุดต่ำสุดแล้ว
สิ่ง ทอและเครื่องนุ่งห่มถือเป็นอุตสาหกรรมที่ทำรายได้ให้กับประเทศเป็นอันดับ 7 ของการส่งออกทั้งหมดแต่ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ภาพรวมการส่งออกสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มของไทยหดตัวลงอย่างต่อเนื่องตามสภาพ เศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว
ทว่าในปี 2559 ผู้ประกอบการส่งออกสิ่งทอมั่นใจว่า การส่งออกสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มของไทยจะพลิกกลับมาฟื้นตัวเป็นบวกได้อย่าง น้อยร้อยละ 2 วัลลภ วิตนากร รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และ ประธานบริษัท ไฮเทค-แอพพาเรล บอกว่า ที่มั่นใจว่าปีนี้จะกลับมาเป็นบวกได้ เพราะเข้าใจว่าสถานการณ์ส่งออกของสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มไม่น่าจะติดลบมาก ไปกว่านี้แล้ว เพราะที่ผ่านมาก็ถือว่าหดตัวลงไปถึงจุดต่ำสุดแล้ว
นอกจากนี้ ในประเทศเวียดนามเองก็ยังมีปัญหาเรื่องของการผลิตวัตถุดิบต้นน้ำเองอยู่ จึงทำให้ต้องมีการนำเข้าวัตถุดิบต้นน้ำจากไทย และเชื่อว่าในภูมิภาคเอเชียก็ยังมีความต้องการสิ่งทออยู่มาก รวมถึงในกลุ่มการ์เมนต์ที่เข้ามาลงทุนในไทยส่วนใหญ่ก็เป็นกลุ่มทุนขนาดกลาง และใหญ่ จึงยังคงรักษาฐานการผลิตในไทยไว้ และเชื่อว่าปีนี้กำลังซื้อน่าจะกลับมาเพิ่มขึ้นจากปีก่อน
สำหรับปัจจัยเสี่ยงที่อาจทำให้ภาพรวมการ ส่งออกสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มไปไม่ถึงฝัน ในระยะสั้น 1-2 ปีนี้ มองว่าน่าจะเป็นเรื่องที่ไทยยังไม่มีท่าทีที่ชัดเจนในการเข้าร่วมเป็นสมาชิก หุ้นส่วนยุทธศาสตร์การค้าเอเชียแปซิฟิก (ทีพีพี) และข้อตกลงเขตการค้าเสรีไทย-สหภาพยุโรป (เอฟทีเอไทย-อียู) ขณะที่เวียดนามได้เข้าร่วมทีพีพีและทำเอฟทีเอกับอียูไปแล้ว อีกทั้งยังได้รับสิทธิพิเศษทางภาษี (จีเอสพี) จากประเทศในกลุ่มสหภาพยุโรป ทำให้คู่ค้าต้องหันไปสั่งซื้อจากเวียดนามแทนเพื่อให้สามารถแข่งขันได้เช่น กัน
“แม้ว่าไทยจะเป็นผู้ผลิตต้นน้ำปลายน้ำที่ สมบูรณ์เหมือนเป็นศูนย์กลางในอาเซียน แต่ปัจจุบันไทยเผชิญกับต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น ผู้ผลิตบางรายเริ่มย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศใกล้เคียง ทำให้ประเทศเหล่านี้กลายเป็นคู่แข่งสำคัญของไทย ซึ่งเรื่องนี้ถือว่าเป็นความท้าทายหนึ่งของอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่ง ห่มไทยที่จะต้องก้าวข้ามไปให้ได้” วัลลภ กล่าว
อย่างไรก็ดี ไทยต้องยอมรับว่ารัฐบาลเวียดนามพยายามส่งเสริมอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่อง นุ่งห่มอย่างจริงจังกว่ารัฐบาลไทย ทั้งการจัดทำแผนพัฒนาระยะยาวให้เติบโตอย่างยั่งยืน สนับสนุนให้บริษัทผู้ผลิตรักษาความสัมพันธ์กับบริษัทนำเข้าในต่างประเทศ เพิ่มมูลค่าสินค้าโดยสร้างตราสินค้าของตัวเอง เน้นขายในประเทศ รวมถึงการอนุมัติเงินลงทุนการผลิตวัตถุดิบเพื่อลดการนำเข้าจากต่างประเทศ ทำให้สัดส่วนการส่งออกของเวียดนามไปยังตลาดโลกมากขึ้น กินส่วนแบ่งตลาดเกือบร้อยละ 2 ของมูลค่าการส่งออกรวมของโลกในช่วง 5 ปีย้อนหลังไป
โดยในปี 2556 เวียดนามมีมูลค่าการส่งออก 2 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 6 แสนล้านบาท) ขยายตัวร้อยละ 18.6 สินค้าหลักที่ส่งออก ได้แก่ สูท แจ็กเกต เสื้อถักแบบนิต หรือแบบโครเชต์ ขณะเดียวกัน ไม่เพียงแต่เวียดนามเท่านั้นที่ยังไม่ถูกตัดสิทธิจีเอสพี แต่อินโดนีเซีย กัมพูชา สปป.ลาว และเมียนมา ก็ยังไม่ถูกตัดสิทธิจีเอสพีเช่นกัน ไทยจึงจำ เป็นต้องกลับมาส่องกระจกดูตัวเองว่า ขณะนี้สินค้าบางรายการที่ส่งออก ไปยังสหภาพยุโรปนั้นมีความคล้ายคลึงกับสินค้าส่งออกของประเทศคู่แข่งมาก จะทำอย่างไรจึงจะสร้างความต่างหนีคู่แข่งเหล่านี้ไปได้
ทั้งนี้ ที่ผ่านมาไทยได้เปรียบเพียงอุตสาหกรรมต้นน้ำนั่นคือ เป็นผู้ผลิตเส้นใย แต่จะนอนใจไม่ได้เพราะเวียดนาม มีการผลิตที่เข้มแข็งขึ้นทั้งในอุตสาหกรรมกลางน้ำ ปลายน้ำ วัลลภ สรุปทางรอดของอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มไทยว่า การกำหนดยุทธศาสตร์เป็นกลุ่มคลัสเตอร์ ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ ซึ่งอุตสาหกรรมต้นน้ำถึงปลายน้ำในไทยมีหมดแล้ว แต่จะทำอย่างไรถึงจะสร้างมูลค่าเพิ่มในห่วงโซ่อุปทานได้ทั้งหมด รวมทั้งต้องแสดงท่าทีที่ชัดเจนเกี่ยวกับกับเข้าร่วมทีพีพีและเจรจาจัดทำเอ ฟทีเอกับอียูโดยเร็ว เพื่อเจรจาให้ได้อัตราภาษีศุลกากรระหว่างกันที่ต่ำที่สุดเท่าที่จะทำได้ ส่วนผู้ประกอบการที่สินค้ามีศักยภาพ อาจพิจารณาขยายการลงทุนในประเทศเพื่อนบ้านเสริมกับการทำธุรกิจในไทย เพื่อบรรเทาผลกระทบจากภาษีที่เพิ่มขึ้น
ที่มา: หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ปีที่ 13 ฉบับที่ 4745 วันที่ 3 กุมภาพันธ์2559 หน้า C2
ขอบคุณข้อมูล: กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ