ไทยเร่งแก้จุดอ่อนร่วม TPP ชูถกหาข้อสรุปยา-พันธุ์พืช

ไทยเร่งแก้จุดอ่อนร่วม TPP ชูถกหาข้อสรุปยา-พันธุ์พืช

พาณิชย์เร่งสรุปผลการศึกษาTPP ก่อนเสนอความเห็นต่อ พกค. 4 เม.ย.นี้ อภิรดี สั่งที่ประชุมไปหารือภาคประชาสังคม เน้นกลุ่มยาใช้ช่อง Side letter ชะลอผลกระทบได้ ด้านนักวิชาการมองไทยควรปรับปรุงสิ่งที่ยังบกพร่องโดยเฉพาะยาและพันธุ์พืช

ดร.เดือนเด่น นิคมบริรักษ์ ผู้อำนวยการวิจัยด้านการบริหารจัดการระบบเศรษฐกิจ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) เปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ” ถึงการประชุมคณะอนุกรรมการศึกษาความพร้อมของไทยต่อความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (TPP) ภายใต้คณะกรรมการพัฒนาการค้าระหว่างประเทศ (พกค.) ครั้งแรกที่มีนางอภิรดี ตันตราภรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์เป็นประธาน (7 ก.พ.59) ว่า ยังมีไม่ข้อสรุป เพียงแต่เป็นการหารือในประเด็นที่ไทยต้องดำเนินการ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสิทธิบัตรยา การคุ้มครองพันธุ์พืชหรืออนุสัญญายูปอฟ โดยเฉพาะสิทธิบัตรยาที่มีปัญหามากซึ่งไทยต้องปรับแก้

“มีหลายเรื่องที่เราต้องปรับปรุง แม้จะเข้าร่วมหรือไม่เข้าร่วม TPP ก็ตาม เพื่อให้เกิดการแข่งขัน ซึ่งการประชุมครั้งนี้ยังไม่มีข้อสรุป แต่สาระสำคัญคือ มาช่วยกันดูว่ามีอะไรบ้าง เพราะหลายเรื่องเราต้องปรับเพื่อตัวเราเอง ซึ่งเป็นเรื่องที่ดีเพื่อเตรียมความพร้อม”

ด้านนางอภิรดี ตันตราภรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า ที่ประชุมได้รับฟังข้อมูลเบื้องต้น จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กระทรวงสาธารณสุข สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) มีความเห็นตรงกันว่า ควรหาข้อมูลเพิ่มเติมโดยเฉพาะจากภาคประชาสังคมเพื่อให้ได้ข้อมูลเชิงลึก รวมถึงให้หน่วยราชการที่เกี่ยวข้องไปหาข้อมูลเพิ่มเนื่องจากที่ประชุมได้ศึกษาสาระสำคัญของ TPP แล้วพบว่าเป็นข้อตกลงที่จะส่งผลกระทบเชิงปฏิรูปต่อประเทศในด้านการค้าและการลงทุน

ขณะที่ภาคเอกชนได้แสดงความเห็นว่า กฎระเบียบทางการค้าหลายอย่างของไทยกลายเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของไทยเอง จึงควรให้เอกชนและภาคประชาสังคมได้ไปประเมินตัวเองอีกครั้งว่า ต้องการให้มีการปรับปรุงในส่วนใดบ้าง ทั้งนี้จะต้องมีการประชุมอีก และจะพยายามหาข้อสรุปเพื่อนำเสนอความเห็นเบื้องต้นต่อ พกค.ที่จะมีการประชุมในวันที่ 4 เมษายนนี้

ส่วนประเด็นที่เป็นข้อกังวล ได้แก่ เรื่องสิทธิบัตรยา ที่ประชุมได้หารือกันแล้วและพบว่าอุตสาหกรรมยาของไทยมีการพัฒนาไปได้ระดับหนึ่ง จึงให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปสรุปข้อมูลเชิงลึกอีกครั้ง โดยเฉพาะจากกลุ่มประชาสังคม นายวินิจฉัย แจ่มแจ้ง ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงพาณิชย์ ซึ่งได้รับมอบหมายให้เป็นประธานการจัดหาข้อมูลเพิ่ม กล่าวว่า จะเน้นการหารือกับกลุ่มประชาสังคมเกี่ยวกับด้านยา เพื่อหารือถึงเงื่อนไขที่แต่ละประเทศใช้เป็นแนวทางในการรับมือกับข้อตกลง TPP โดยข้อตกลงเปิดให้มีบทแนบท้าย หรือ Side letter ที่สามารถขอเลื่อนกำหนดเวลาเปิดเสรี หรือขอยกเว้นการเปิดเสรีในสินค้าบางรายการได้

โดยไทยกำลังศึกษาข้อมูลที่ประเทศต่าง ๆ ใช้อยู่ ทั้งนี้การรับสมาชิกใหม่ของTPP มีเงื่อนไขคือ ต้องเป็นสมาชิกกลุ่มความร่วมมือเศรษฐกิจเอเชียแปซิฟิก (เอเปก) ก่อน ซึ่งไทยเป็นสมาชิกอยู่แล้ว โดยจะเปิดรับสมัครอีก 2 ปีหลังจากที่ประเทศสมาชิก 12 ประเทศ ให้สัตยาบันจนครบแล้ว โดยประเทศจะเข้าเป็นสมาชิกใหม่ต้องส่งจดหมายไปยังสมาชิก TPP เพื่อรอรับการตอบรับและเงื่อนไขการยอมรับเป็นสมาชิกก่อน

ที่มา: หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3138 วันที่ 10 – 12 มีนาคม 2559 หน้า 6

ขอบคุณข้อมูล: กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ

Share This Post!

60 views

Newsletter Subscription

สนใจรับข่าวสารและกิจกรรมที่เป็นโอกาสของไทย
Email Address
Secure and Spam free...
Go to Top