ชำแหละข้อตกลงยาใน TPP

ชำแหละข้อตกลงยาใน TPP

สภาหอฯ ตรวจสอบผลเจรจาข้อตกลงเกี่ยวกับยาใน TPP ยันมาเลย์-เวียดนามไม่เสียเปรียบสหรัฐฯ แถมมีระยะเวลาผ่อนผันการออกกฎหมายคุ้มครองอีก 5-10 ปี ยกเป็นกรณีศึกษาทำไทยเสียโอกาสเข้าถึงยาใหม่ ขณะสถิติฟ้องชัดปี 58 ทุน FDI ไหลเข้าไทยน้อยสุดในบรรดา 5 ชาติแถวหน้าอาเซียนจากขาดแรงจูงใจ

นายบัณฑูร วงศ์สีลโชติ รองประธานคณะกรรมการเจรจาการค้าระหว่างประเทศ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า จากที่ได้ตรวจสอบรายละเอียดของเอกสารเผยแพร่ความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก หรือ TPP ที่มีสหรัฐอเมริกาเป็นแกนนำที่ 12 ชาติสมาชิกได้ลงนามความตกลงกันไปแล้วนั้น ทั้งนี้ในส่วนของความตกลง TPP ในเรื่องการขยายความคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาที่เกี่ยวกับยารักษาโรค ที่องค์กรภาคประชาชนและหลายฝ่ายเกรงไทยจะเสียเปรียบสหรัฐฯ นั้น จากการตรวจสอบสาระสำคัญของความตกลง TPP ในทั้ง 2 เรื่อง สามารถแบ่งได้ดังนี้คือ กรณียาที่เคยเป็นที่รู้จักสามารถจดสิทธิบัตรใหม่เพื่อให้คุ้มครองได้นาน 3 ปี และในกรณีที่พบว่า สามารถใช้รักษาโรคใหม่แตกต่างจากโรคเก่าที่ได้จดทะเบียนไว้ เช่น เดิมขอสิทธิบัตรไว้รักษาโรคมะเร็ง แต่พบว่ารักษาโรคเอดส์ได้ จะให้จดสิทธิบัตรใหม่ได้แต่คุ้มครองเพียง 3 ปี ไม่ใช่ 20 ปีอย่างที่เคยเกรงกลัวกัน ดังนั้นคำว่า evergreen patent หมายถึง สิทธิบัตรไม่มีวันหมดอายุจึงเป็นเรื่องที่กล่าวกันเกินความเป็นจริง แต่มีความจริงอยู่เพียงนิดเดียว คืออีก 3 ปี ขณะที่การคุ้มครองข้อมูลทดสอบยา (test data exclusivity) มีระยะเวลา 5 ปี โดยบริษัทผลิตยาใหม่ต้องทดสอบว่ายาใหม่นั้นปลอดภัย มีประสิทธิผลในการรักษาโรคตามที่กล่าวอ้างได้จริง แล้วจึงนำข้อมูลนั้นไปขึ้นทะเบียนเพื่อให้องค์การอาหารและยาอนุมัติให้ขายยาใหม่ได้ ซึ่งปกติการทดสอบดังกล่าวบริษัทยาจะใช้เวลาเฉลี่ย ประมาณ 10-20 ปี

กรณีทำได้ก่อนปีที่ 15 หลังการจดสิทธิบัตรซึ่งคุ้มครอง 20 ปี การคุ้มครองข้อมูลทดสอบยาก็จะหมดไปพร้อมอายุสิทธิบัตร แต่หากทำได้หลังปีที่ 15 บริษัทยาก็ยังได้รับการคุ้มครองให้ขายยานั้นแต่ผู้เดียวไปอีก 5 ปี “เรื่องนี้ประเทศมาเลเซียกำหนดว่า หากได้ขึ้นทะเบียนข้อมูลทดสอบยาในประเทศแรกวันใด หลังวันนั้นอีก 18 เดือน หากบริษัทยายังไม่ได้มาขึ้นทะเบียนเพื่อขายยานั้นในมาเลเซียก็จะไม่คุ้มครองข้อมูลทดสอบยานั้น หมายความว่า บริษัทยาต้องนำยาใหม่ที่เริ่มขายแล้วในประเทศใดประเทศหนึ่ง ต้องนำมาขายในมาเลเซียภายใน 18 เดือน หลังจากนั้นจึงจะได้รับการคุ้มครองซึ่งจะทำให้ผู้ป่วยในมาเลเซียได้เข้าถึงยาใหม่ ส่วนไทยที่ไม่ได้เข้าร่วม TPP อาจไม่ได้มียานั้นขายในประเทศไทยเลยหรือถ้ามีก็อาจยาวนานกว่า 2-3 ปี”

“กรณีที่เกี่ยวกับ data exclusivity นี้มาเลเซียได้เจรจาและได้รับการผ่อนผันให้เริ่มมีกฎหมายคุ้มครอง 5 ปี และเวียดนามมีเวลาผ่อนผัน10 ปี หลังความตกลง TPP มีผลบังคับใช้เพื่อเตรียมการให้เป็นไปตามความตกลงนี้ ซึ่งในส่วนของไทยที่ไม่ได้เข้าร่วม TPP ตั้งแต่แรก หากเข้าร่วม TPP ในภายหลังก็ยังไม่ทราบว่าจะได้รับการผ่อนผันหรือไม่”

นายบัณฑูร กล่าวอีกว่า การไม่เข้าร่วม TPP ของไทยได้ส่งผลกระทบต่อการลงทุนของต่างประเทศในไทยอย่างมาก เพราะสินค้าที่ผลิตในไทยล้วนไม่เข้าข่ายได้รับสิทธิพิเศษทางภาษีในการส่งออกไปยังประเทศสมาชิกของ TPP ซึ่งจากข้อมูลการลงทุนโดยตรงของต่างชาติในไทย (FDI) ในปี 2558 ไทยได้รับการลงทุนน้อยที่สุดโดยอยู่อันดับ 5 ในบรรดาชาติอาเซียน โดยมีสิงคโปร์ (1 ในสมาชิก TPP) ได้รับเงินลงทุนสูงสุดจากการปกป้องทรัพย์สินทางปัญญาระดับโลก โดยการลงทุนส่วนใหญ่มาจากบริษัทเจ้าของสิทธิบัตรสำคัญ ๆ ของโลก และผู้ผลิตสินค้าเทคโนโลยีดัง ๆ จากสหรัฐฯ “ส่วนเวียดนาม ในปี 2558 ส่งออกสินค้าไปสหรัฐฯ มากกว่าไทย 9.39 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (3.40 แสน ล้านบาท) เพิ่มขึ้นจากปี 2557 ที่เวียดนามส่งออกไปสหรัฐฯ มากกว่าไทยอยู่ 3.46 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (1.21 แสนล้านบาท) หลังจากมีโรงงานต่างชาติเข้าไปลงทุนในเวียดนามจำนวนมาก มีผลให้การส่งออกจากเวียดนามไปสหรัฐฯเพิ่มขึ้น”

ที่มา : หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3139 วันที่ 13 – 16 มีนาคม 2559 หน้า 5

ขอบคุณข้อมูล: กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ

106 views

Newsletter Subscription

สนใจรับข่าวสารและกิจกรรมที่เป็นโอกาสของไทย
Email Address
Secure and Spam free...
Go to Top