ทรัมป์ ควรเริ่มต้นการจัดระเบียบประเทศด้วยการตัดงบเงินอุดหนุนฟาร์มสินค้าเกษตรสิ้นเปลือง

ทรัมป์ ควรเริ่มต้นการจัดระเบียบประเทศด้วยการตัดงบเงินอุดหนุนฟาร์มสินค้าเกษตรสิ้นเปลือง

PHOTO: BLOOMBERG NEWS

Congressional Budget Office (CBO) คาดการณ์ว่า ปี ค.ศ. ๒๐๑๗ รัฐบาลกลางสหรัฐฯ จะต้องจัดสรรงบประมาณเพื่อสนับสนุนเกษตรกรเป็นจำนวนสูงถึง ๑๙ พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และตามข้อมูลจาก USDA เกษตรกรสหรัฐฯ จะได้รับเงินสนับสนุนจากรัฐบาลเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่า เช่นเดียวกับที่เคยได้รับในปี ค.ศ. ๒๐๑๓

นโยบายเพื่อสนับสนุนเกษตรกรของรัฐบาลสหรัฐฯ ที่ใช้งบประมาณสูง และควรได้รับการพิจารณาแก้ไขในรัฐบาลใหม่ อาทิ

ฝ้าย รัฐบาลสหรัฐฯ จ่ายเงินอุดหนุนให้ผู้ผลิตฝ้ายบราซิลเป็นมูลค่า ๗๕๐ ล้านดอลลาร์สหรัฐตั้งแต่ปี ค.ศ. ๒๐๑๐ เพื่อยับยั้งการปรับขึ้นภาษีส่งออกฝ้ายของสหรัฐฯ สืบเนื่องมาจากที่บราซิลได้ร้องต่อองค์การการค้าโลกว่า สหรัฐฯ ให้เงินอุดหนุนแก่เกษตรกรผู้ผลิตฝ้ายในสหรัฐฯ อย่างไม่เป็นธรรม ส่งผลให้ราคาฝ้ายในตลาดโลกตกต่ำ ทั้งนี้ จากการศึกษาของ International Center for Trade and Sustainable Development พบว่า แม้รัฐบาลสหรัฐฯ จะปรับปรุงนโยบายเพื่อสนับสนุนฝ้ายในปี ค.ศ. ๒๐๑๔ แต่เกษตรกรผู้ผลิตฝ้ายยังคงได้รับเงินช่วยเหลือราว ๑.๕ พันล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี หรือคิดเป็นร้อยละ ๔๐ ของมูลค่าตลาดฝ้ายของสหรัฐฯ และส่งผลให้ราคาฝ้ายในตลาดโลกปรับตัวลดลงร้อยละ ๗ จนเกิดความเสียหายต่อเกษตรกรทั่วโลกเป็นเงิน ๓ พันล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี

น้ำตาล สหรัฐฯ ได้กำหนดโควตานำเข้าและพยุงราคาน้ำตาลอย่างเคร่งครัด ส่งผลให้ราคาน้ำตาลของสหรัฐฯ สูงกว่าตลาดโลก ๒-๓ เท่า และจากสถิติในปี ค.ศ. ๒๐๑๓ Sugar Program ของสหรัฐฯ ส่งผลให้เกิดการสูญเสียการจ้างงานในสายการผลิตอาหารจำนวน ๑.๒ แสนตำแหน่ง ตั้งแต่ปี ค.ศ. ๑๙๙๗

ถั่วลิสง รัฐบาลสหรัฐฯ ได้ยกเลิกมาตรการที่กำหนดให้เกษตรกรต้องมีใบอนุญาตเพาะปลูกถั่วลิสง และหันมาใช้มาตรการพยุงราคา โดย USDA คาดการณ์ว่า รัฐบาลจะใช้งบประมาณช่วยเหลือเกษตรกร ผู้เพาะปลูกถั่วลิสงเพิ่มสูงขึ้นถึงแปดเท่าระหว่างปี ค.ศ. ๒๐๑๕ – ๒๐๑๗ คิดเป็นมูลค่าประมาณ ๑ พันล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี และยังส่งผลให้รัฐบาลต้องรับภาระสินค้าล้นตลาด

นโยบายประกันสินค้าเกษตร Farm Bill ที่มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ปี ค.ศ. ๒๐๑๔ ได้ใช้นโยบายให้เงินช่วยเหลือเกษตรกรโดยรับซื้อในราคาสูงกว่าตลาด แทนมาตรการการช่วยเหลือทางตรง ซึ่ง CBO คาดการณ์ว่า ปี ค.ศ. ๒๐๑๗ รัฐบาลจะใช้งบประมาณเพื่อให้เงินอุดหนุนดังกล่าวประมาณ ๗.๕ พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

นโยบายส่งเสริมการตลาดสินค้าเกษตร โครงการ Market Access Program (MAP) ของก.เกษตรสหรัฐฯ (USDA) เพื่อส่งเสริมการตลาดในต่างประเทศให้แก่ธุรกิจสหรัฐฯ ซึ่งรวมไปถึงผู้ผลิตอาหารสัตว์และผู้ผลิตไวน์ ใช้งบประมาณสูงถึง ๑๗๖ ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี ซึ่งไม่เห็นผลเชิงบวกทางเศรษฐกิจที่เป็นรูปธรรมมากนัก

จากสถิติการสำรวจของสถาบัน Environmental Working Group ได้ให้ข้อมูลว่า ในระหว่างปี ค.ศ. ๑๙๙๕ – ๒๐๑๔ ร้อยละ ๑ ของเกษตรกรผู้ที่ได้รับเงินสนับสนุนจากรัฐบาลสหรัฐฯ ในกลุ่มเกษตรกรรายได้สูงสุด ได้รับเงินช่วยเหลือคิดเป็นร้อยละ ๒๖ จากเงินช่วยเหลือทั้งหมด และร้อยละ ๒๐ ของกลุ่มเกษตรกรรายได้สูงสุด ได้รับเงินช่วยเหลือสูงถึงคิดเป็นร้อยละ ๙๑

จากสถิติพบว่า ถึงแม้จะไม่มีเงินอุดหนุนจากรัฐบาล เกษตรกรชาวสหรัฐฯ ยังมีความมั่งคั่งมากกว่าประชากรสหรัฐฯ ทั่วไป โดย USDA ได้รายงานว่า ในปีค.ศ. ๒๐๑๕ กลุ่มเกษตรกร รายย่อยสหรัฐฯ มีรายได้ต่อครัวเรือนเฉลี่ย ๘๒๗,๓๐๗ ดอลลาร์สหรัฐ และกลุ่มเกษตรกรรายใหญ่มีรายได้ต่อครัวเรือนเฉลี่ย ๒,๕๘๖,๐๐๐ ดอลลาร์สหรัฐ เปรียบเทียบกับรายได้ต่อครัวเรือนเฉลี่ยของประชากรทั่วไปในสหรัฐฯ ในปี ค.ศ. ๒๐๑๓ ซึ่งอยู่ที่เพียง ๘๑,๒๐๐ ดอลลาร์สหรัฐฯ

ผู้เขียนเห็นว่า ผู้ที่จะได้รับเลือกจากนาย Trump ขึ้นมาดำรงตำแหน่งเป็น รมว. กษ. สหรัฐฯ คนต่อไป ควรพิจารณาแก้ไขนโยบายสนับสนุนสินค้าการเกษตรที่ไม่เพียงแต่ใช้งบประมาณสูงเกินความจำเป็น แต่ยังส่งผลเสียต่อกลไกตลาดในประเทศและตลาดโลก และสร้างภาระแก่รัฐบาลสหรัฐฯ อีกด้วย

อ่านข่าวฉบับเต็มได้ที่นี่

Share This Post!

94 views

Newsletter Subscription

สนใจรับข่าวสารและกิจกรรมที่เป็นโอกาสของไทย
Email Address
Secure and Spam free...
Go to Top