เศรษฐกิจโลกปีระกาเผชิญ 5 ความท้าทาย

เศรษฐกิจโลกปีระกาเผชิญ 5 ความท้าทาย

Credit Photo: ฐานเศรษฐกิจ

เศรษฐกิจโลกในปี 2560 แม้จะมีแนวโน้มการขยายตัวมากกว่าปี 2559 ที่เพิ่งผ่านพ้นไป แต่ก็จะเป็นพัฒนาการที่ดีขึ้นกว่ากันไม่มากนัก เนื่องจากปัจจัยเสี่ยงที่ยังมีอยู่มาก ตั้งแต่การเมืองระหว่างประเทศไปจนถึงภาพรวมเศรษฐกิจที่ขาดสเถียรภาพ แต่ 5 ปัจจัยเสี่ยงหลักที่เป็นความท้าทายมากที่สุดสำหรับรัฐบาลทั่วโลกนั้น ได้แก่

 กระแสกีดกันทางการค้าและประชานิยม

กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ)ได้ออกรายงานเตือนว่านโยบายของภาครัฐที่เป็นไปในแนวประชานิยม (popularism) และปกป้องตลาดภายในประเทศ (protectionism)ด้วยการตั้งกำแพงการค้าขึ้นมา มีความสัมพันธ์กับการเติบโตทางเศรษฐกิจในอัตราที่ซบเซา

ในรายงานว่าด้วยแนวโน้มเศรษฐกิจโลก หรือ World Economic Outlook ฉบับล่าสุด มอริส ออฟส์ทเฟลด์ หัวหน้านักเศรษศาสตร์ของไอเอ็มเอฟ ได้ให้ทัศนะในเชิงติงเตือนว่า การหันกลับไปใช้นโยบายประชานิยมและกีดกันการค้า เท่ากับเป็นการเดินถอยหลังทางการค้า ซึ่งผลที่เกิดขึ้นมีแต่จะทำให้สภาวะซบเซาของเศรษฐกิจโลกที่เป็นอยู่ในปัจจุบันนั้น ยิ่งถลำลึกและต้องใช้เวลาในการแก้ไขปัญหายาวนานขึ้น

แนวโน้มการก่อกระแสดังกล่าวในสหรัฐอเมริกา ประจักษ์ชัดนับตั้งแต่สองผู้สมัครตัวแทนพรรครีพับลิกันและเดโมแครตในศึกเลือกตั้งชิงตำแหน่งประธานาธิบดีเมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา ต่างชูนโยบายปกป้องอุตสาหกรรมภายในประเทศและถอยห่างออกจากมาตรการการค้าเสรีที่รัฐบาลชุดก่อนๆของสหรัฐฯให้การสนับสนุนเสมอมา แม้แต่ฮิลลารี คลินตัน อดีตรัฐมนตรีต่างประเทศของรัฐบาลโอบามาซึ่งเป็นตัวแทนพรรคเดโมแครต ก็ยังพูดชัดในช่วงหลังๆของการหาเสียงว่าเธอไม่สนับสนุนการเข้าสู่ข้อตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจแห่งภาคพื้นแปซิฟิก (ทีพีพี) ของสหรัฐฯเช่นกัน แม้ว่าการบรรลุข้อตกลงดังกล่าวซึ่งจะนำไปสู่การเป็นตลาดการค้าเสรีของ 12 ประเทศสมาชิก ถือเป็นผลงานชิ้นโบแดงของประธานาธิบดีบารัก โอบามาก็ตาม

และไม่ใช่เฉพาะทีพีพีเท่านั้น แม้แต่ข้อตกลงการค้าเสรีอเมริกาเหนือ (นาฟตา) ที่ก่อตั้งขึ้นมาแล้วกว่า 2 ทศวรรษระหว่างสหรัฐฯ แคนาดา และเม็กซิโก โดนัลด์ ทรัมป์ ก็ขู่ว่าจะเจรจาให้สหรัฐฯถอนตัวออกเช่นกันหากอยู่แล้วเสียประโยชน์

นางคริสติน ลาการ์ด กรรมการผู้จัดการกองทุนการเงินระหว่างประเทศ ระบุว่า นโยบายใดๆก็ตามที่เป็นอุปสรรคกีดกันการค้าถือเป็นรูปแบบการประพฤติปฏิบัติทางเศรษฐกิจที่ผิดพลาด และจะก่อให้เกิดผลลัพธ์เชิงลบไม่ว่าจะเป็นการสกัดกั้นการเติบโตทางเศรษฐกิจ ไม่เอื้อให้เกิดการสร้างงานหรือเพิ่มค่าจ้างแรงงาน และจะซ้ำเติมแนวโน้มเศรษฐกิจโลกที่ซบเซาอยู่แล้วให้อ่อนแอยิ่งขึ้น

Brexit และภาวะไร้เสถียรภาพในยุโรป

ปี 2560 เป็นปีที่ทั้งฝรั่งเศส เยอรมนี และเนเธอร์แลนด์ ซึ่งเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป (อียู) จะต้องจัดการเลือกตั้งทั่วประเทศ พรรคการเมืองขวาจัดชาตินิยมในทั้งสามประเทศได้รับคะแนนนิยมเพิ่มมากขึ้นจนเชื่อว่าหากได้รับชัยชนะ จะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างมากต่อนโยบายทางเศรษฐกิจซึ่งอาจไม่เป็นผลดีต่อยูโรโซนหากมีการนำมาตรการในลักษณะกีดกันการค้าและปกป้องตัวเองมาใช้มากขึ้น ปรากฏการณ์ดังกล่าวจะเกิดขึ้นเป็นภาพใหญ่ในอียู ขณะที่เหตุการณ์สำคัญที่สุดในภาคพื้นยุโรปจะเป็นการเข้าสู่กระบวนการแยกตัวออกจากอียูของอังกฤษ ที่เรียกว่า Brexit ภายใต้มาตรา 50 ของสนธิสัญญาว่าด้วยสหภาพยุโรป

แม้ว่าในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา บทบาทและอิทธิพลของอังกฤษในเวทีเศรษฐกิจโลกจะเจือจางลง แต่ผลกระทบจากการลงประชามติออกจากอียูในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมาก็เห็นได้ชัดเจนในตลาดทุนและตลาดปริวรรตเงินตราทั่วโลก ค่าเงินปอนด์ของอังกฤษดำดิ่งลงสู่ระดับต่ำที่สุดในรอบ 186 ปีเมื่อนางเทเรซา เมย์ นายรัฐมนตรี ประกาศจะเริ่มกระบวนการเจรจาเพื่อการถอนตัวกับอียูในเดือนมีนาคมที่จะถึงนี้

กระบวนการดังกล่าว หากยิ่งยืดเยื้อใช้เวลายาวนาน ( 2 ปีหรือกว่านั้น) ก็ยิ่งหมายถึงความไม่แน่นอน ไม่มั่นคง ซึ่งจะส่งผลทุบราคาสินทรัพย์และสกุลเงินของยุโรปให้ยิ่งอ่อนยวบลง ชะลอการลงทุนใหม่ๆ และการจับจ่ายใช้สอยของประชาชน กดให้เศรษฐกิจยุโรปในภาพรวมอ่อนแอลง

 นโยบายการเงินมาถึงขีดจำกัด

มาตรการผ่อนคลายในเชิงปริมาณทางการเงิน หรือ คิวอี (Quantitative Easing) ที่ทั้งธนาคารกลางของสหรัฐฯ อียู อังกฤษ รวมทั้งญี่ปุ่น นำมาใช้ในระยะ 8 ปีที่ผ่านมาหลังโลกเผชิญวิกฤตการเงิน จะเริ่มมาถึงจุดตีบตันไม่สามารถขยายเวลาการใช้คิวอีหรือขยายขนาดของโครงการได้อีกต่อไปในปีนี้

จากสถิติของ 4 ธนาคารกลางข้างต้น ชี้ว่า ในระยะ 8 ปีที่ผ่านมามีการใช้มาตรการคิวอีเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจไปแล้วระหว่าง 6 ล้านล้านถึง 18 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ส่วนใหญ่อยู่ในรูปพันธบัตรรัฐบาลของประเทศเหล่านั้น แม้ว่ามาตรการคิวอีจะให้ผลลัพธ์ทันทีในการสร้างสภาพคล่องทางการเงินในระยะสั้นๆ แต่ผลตอบแทนก็ลดลงเรื่อยๆจนกระทั่งเชื่อว่า ทั้งธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) และธนาคารกลางแห่งอังกฤษ (บีโออี) จะค่อยๆยุติการใช้มาตรการคิวอีลงในปีนี้ ซึ่งหากเป็นเช่นนั้น ตลาดจะได้รับแรงกระทบมาก และในประเทศญี่ปุ่นเองก็มีการถกเถียงกันในสภามากขึ้นเกี่ยวกับนโยบายคิวอีว่า จุดไหนและเมื่อไหร่ธนาคารกลาง (บีโอเจ) ถึงควรจะต้องลดและยกเลิกการเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาล

 นโยบายการคลังจะตึงมือมากขึ้น

รายงานฉบับเดือนตุลาคม 2559 ของไอเอ็มเอฟ ประเมินสถานการณ์เกี่ยวกับนโยบายการคลังในกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมพัฒนาแล้ว ว่าจะตึงต่อไปและถูกคุมเข้มมากขึ้นในปีนี้แม้ว่าจะมีการเรียกร้องให้รัฐเพิ่มการลงทุนเพื่อช่วยกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจให้มากขึ้น

ผลการสำรวจล่าสุดของแบงก์ ออฟ อเมริกา เมอร์ริล ลินช์ พบว่า 48% ของผู้จัดการการเงินที่ตอบแบบสอบถามเชื่อว่า รัฐบาลทั่วโลกจะดำเนินนโยบายอย่างระมัดระวังและเข้มงวดมากขึ้น ในระดับ “มากเกินไป” แต่ในฝั่งของจีน กลับมีความคาดหวังในทิศทางตรงกันข้าม โดยส่วนใหญ่คาดว่า จีนจะยังคงเพิ่มงบลงทุนในโครงการต่างๆเพื่อรักษาอัตราเติบโตทางเศรษฐกิจไว้ในระดับที่ไม่สั่นคลอนสเถียรภาพทางการเมืองของจีนเองก่อนที่จะมีการเปิดสมัยการประชุมสภาประชาชนแห่งชาติครั้งที่ 19 ในปี 2560

 ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ฟื้นตัวน้อย

ในปีที่ผ่านมา ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่ปรับลดลงส่งผลกระทบรุนแรงต่อประเทศกำลังพัฒนาดาวรุ่งอย่างบราซิล รัสเซีย และไนจีเรีย ไอเอ็มเอฟคาดการณ์ว่า ในปี 2560 นี้ ราคาจะปรับสูงขึ้นเพียงเล็กน้อย หลายประเทศเริ่มปรับตัวรับสถานการณ์ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ได้ดีขึ้น เช่น อินเดีย แต่รายงานระบุว่าประเทศที่น่าเป็นห่วงจากปัจจัยเสี่ยงด้านราคาสินค้าโภคภัณฑ์ ประเทศแถบทะเลทรายซาฮาราในแอฟริกา อเมริกาใต้ ประเทศเครือรัฐเอกราช (ซีไอเอส)ที่เคยเป็นส่วนหนึ่งของสหภาพโซเวียต และตะวันออกกลาง

เศรษฐกิจที่ถดถอยในปี 2559 ของประเทศกำลังพัฒนาดาวรุ่งบางประเทศ และภาวะเศรษฐกิจซบเซาที่เป็นปัญหาสะสางไม่เสร็จจนถึงขณะนี้ในหลายประเทศอุตสาหกรรมพัฒนาแล้ว เป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นว่า เศรษฐกิจโลกในปี 2560 ยังคงจะต้องเผชิญหลากหลายความท้าทาย ผู้นำรัฐบาลของประเทศต่างๆจะต้องพยายามขับเคลื่อนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกต่อไปท่ามกลางปัจจัยซ้ำเติมที่จะเข้ามาเพิ่มความยุ่งยาก ไม่ว่าจะเป็นภัยสงคราม การก่อการร้าย โรคระบาด หรืออุปสรรคอื่นๆ

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,223 วันที่ 1 – 4 มกราคม 2560

Share This Post!

97 views

Newsletter Subscription

สนใจรับข่าวสารและกิจกรรมที่เป็นโอกาสของไทย
Email Address
Secure and Spam free...
Go to Top