หอการค้าสหรัฐฯ มอง ศก.ปี 60 ภายใต้ รบ.ใหม่ทรัมป์

หอการค้าสหรัฐฯ มอง ศก.ปี 60 ภายใต้ รบ.ใหม่ทรัมป์

Credit Photo: The U.S. Chamber of Commerce

เป็นธรรมเนียมปฏิบัติในแต่ละปีที่หอการค้าสหรัฐฯ (U.S. Chamber of Commerce) จะคาดการณ์จากมุมมองภาคเอกชนว่า เศรษฐกิจสหรัฐฯ จะเติบโตได้ดีเช่นไร มีอะไรเป็นความท้าทายหรืออุปสรรค และจะตั้งเป้าภารกิจงานใดบ้างเพื่อหอการค้าอเมริกันเตรียมรับมือกับความท้าทายที่จะเกิดขึ้นได้อย่างเหมาะสมและทันต่อเหตุการณ์

เมื่อวันที่ 11 มกราคม 2560 นายโทมัส เจ โดโนฮิว ประธานสภาหอการค้าสหรัฐฯ ได้แถลงสภาวะของธุรกิจอเมริกันประจำปี (State of American Business 2017) ที่กรุงวอชิงตัน แน่นอนว่า ทุกฝ่ายต้องตั้งใจฟังเป็นพิเศษ เพราะเป็นเสียงสะท้อนสำคัญในปีแห่งการเปลี่ยนผ่านสู่รัฐบาลชุดใหม่ภายใต้ประธานาธิบดีทรัมป์ ในภาพรวม หอการค้าสหรัฐฯ มองเศรษฐกิจปี 2560 นี้ในเชิงบวกเมื่อเปรียบเทียบกับตัวเลข GDP ในปี 2559 ที่ทางการสหรัฐฯ เพิ่งประกาศว่าเติบโตเพียง 1.6% แต่ก็ต้องอาศัยแรงขับดันจากทั้งภาครัฐและภาคเอกชนพอสมควร (optimistic but also realistic)

 การคาดการณ์และความคาดหวัง

  • ปีนี้ เศรษฐกิจสหรัฐฯ น่าจะเติบโตได้ถึง 2-2.5% ด้วยอัตราเงินเฟ้อ 2% และธนาคารกลางสหรัฐฯ อาจเพิ่มอัตราดอกเบี้ย 2-3 ครั้ง ในระหว่างปี
  • มีปัจจัยเอื้อจากนโยบายรัฐบาลชุดใหม่ที่มุ่งเพิ่มการเติบโตทางเศรษฐกิจ (high-growth economy) ราคาน้ำมันที่เสถียร ตลาดหุ้นและตลาดอสังหาริมทรัพย์ที่ยังไปได้ดี
  • ปัจจัยความไม่แน่นอนจากทั้งภายในสหรัฐและต่างประเทศยังคงมีอยู่ ไม่ว่าจะเป็นเศรษฐกิจของคู่ค้าหลายประเทศที่ยังไม่ฟื้นตัว การดำเนินความสัมพันธ์ของอังกฤษกับต่างประเทศหลัง Brexit การเลือกตั้งในฝรั่งเศสและ ในเยอรมนี การก่อการร้าย รวมถึงภัยคุกคามทางไซเบอร์
  • ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐที่แข็งขึ้นอาจจะเป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภคอเมริกัน แต่จะทำให้ผู้ส่งออกสหรัฐฯ แข่งขันได้ยาก จึงอยากให้รัฐบาลชุดใหม่ดูแลไม่ให้เกิดภาระกับผู้ส่งออก ซึ่งจะกระทบการจ้างงานชาวอเมริกันหลายล้านคน

เอกชนเห็นสอดคล้องกับทิศทางนโยบาย ปธน.ทรัมป์ หลายเรื่อง

การผลักดันเศรษฐกิจสหรัฐฯ ให้เติบโตเป็นวาระสำคัญสำหรับเอกชนเช่นกัน (American Growth Agenda) ภาครัฐควรใช้นโยบายทุกวิถีทางและภาคเอกชนจะร่วมสนับสนุน หอการค้าสหรัฐฯ เสนอให้ปรับเปลี่ยนเพื่อผลักดันการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและการจ้างงานให้มากขึ้นในด้านต่าง ๆ ประเด็นเหล่านี้ล้วนสอดคล้องกับทิศทางนโยบายของประธานาธีบดีทรัมป์ที่ประกาศออกมา

  • ผ่อนผันและปฏิรูปกฎระเบียบที่มีมากเกินไปจนกลายเป็นภาระต่อภาคธุรกิจ อาทิ การจ่ายเงินค่าล่วงเวลา (Overtime Rule) การจัดการน้ำ (Waters of the U.S. Rule) พลังงานทางเลือก (Clean Power Plan) และความเป็นกลางของระบบออนไลน์ (Net Neutrality) โดยในปี 2560 นี้ สภาหอการค้าสหรัฐฯ จะมีบทบาทอย่างมากในการร่วมปฏิรูปกฏระเบียบเหล่านี้
  • ผลิตพลังงานให้มากขึ้นโดยใช้ทรัพยาการในประเทศให้คุ้มค่าและลดทอนข้อจำกัดที่เป็นผลจากการกำหนดโยบายที่เข้มงวด
  • ควรยกเลิกระบบประกันสุขภาพ “โอบามา แคร์ ซึ่งภาคธุรกิจเห็นว่ามีปัญหามากมาย ทั้งเรื่องข้อบังคับสำหรับนายจ้าง การจัดส่งรายงาน การจัดเก็บภาษี โดยต้องให้เวลาปรับเปลี่ยนไปสู่ระบบประกันสุขภาพใหม่อย่างเหมาะสม
  • อยากเห็นพรรคเดโมแครตและพรรครีพับลิกันร่วมกันปรับโครงสร้างพื้นฐานให้ทันสมัยด้วยโครงการขนาดใหญ่เพื่อยกระดับสนามบิน ท่าเรือ ท่อลำเลียงน้ำมัน การเชื่อมโยงระบบไฟฟ้า บรอดแบนด์ การควบคุมจราจรทางอากาศ รวมถึงการควบคุมแนวชายแดนให้ปลอดภัยและมีประสิทธิภาพ ซึ่งภาคเอกชนพร้อมที่จะร่วมลงทุนด้วย
  • ปฏิรูปและลดภาษีธุรกิจ (pro-growth tax reform) ปัจจุบัน เมื่อรวมกับภาษีในระดับมลรัฐแล้ว เรียกได้ว่า สหรัฐฯ เรียกเก็บภาษีมากที่สุดในบรรดาประเทศพัฒนาแล้ว และบริษัทอเมริกาในต่างประเทศยังมีภาระต้องจ่ายภาษีทั้งในต่างประเทศและในประเทศซ้ำซ้อนอีกด้วย
  • ปรับปรุงระบบการศึกษาเพื่อตลาดแรงงานที่มีคุณภาพ โดยส่งเสริมการเรียนรู้จากการปฏิบัติ (work-based learning opportunities) และเชื่อมโยงความร่วมมือระหว่างสถาบันการศึกษากับธุรกิจในท้องถิ่นให้มากยิ่งขึ้น โดยต้องคำนึงถึงการปรับปรุงระบบการตรวจคนเข้าเมืองและการตรวจลงตราที่ทันสมัยควบคู่กันไปด้วย

เอกชนสหรัฐฯ ยังกังวลอีกหลายเรื่องและรอฟังเพิ่มเติมจากรัฐบาลใหม่

อย่างไรก็ดี คำกล่าวของนายโดโนฮิวสะท้อนถึงความกังวลในหลายเรื่องที่ภาคเอกชนยังต้องรอความชัดเจนจากรัฐบาลใหม่ โดยเฉพาะเรื่องการค้าระหว่างประเทศที่เอกชนเห็นว่าสำคัญอย่างยิ่งต่อการจ้างงานชาวอเมริกัน (if we are going to “Hire American,” we are going to have to “Sell American”) เพราะลูกค้าถึง 95% บนโลกใบนี้อยู่นอกสหรัฐฯ งานของชาวอเมริกันถึง 40 ล้านคนขึ้นกับการค้าขายกับต่างประเทศ เป็นมุมมองที่ต่างจากประธานาธิบดีทรัมป์ที่เน้นให้การจ้างงานชาวอเมริกันจะต้องมาจากการที่ให้บริษัทต่าง ๆ ย้ายมาตั้งฐานการผลิตที่สหรัฐฯ เป็นหลัก เรื่องที่หอการค้าอยากเห็นรัฐบาลชุดใหม่ผลักดันมี ดังนี้         

  • อยากเห็นการค้ากับต่างประเทศมากขึ้น ด้วยความตกลงที่จะลดกำแพงที่กีดกันสินค้าอเมริกัน แม้ว่าความตกลง TPP จะถือว่าตกไปภายใต้รัฐบาล ปธน.ทรัมป์ แต่คำกล่าวของนายโดโนฮิวได้พูดถึงหัวใจหลักใน ความตกลงนี้ว่า ควรจะเร่งให้เกิดผลบังคับใช้โดยเร็ว ยิ่งสหรัฐฯ ช้ามากเท่าไหร่ ก็หมายถึงว่าสหรัฐฯ กำลังเสียเปรียบทั้งในแง่การทำธุรกิจ การจ้างงานชาวอเมริกัน รวมถึงการขยายอิทธิพลของอเมริกา
  • ควรปฏิรูปกฎหมายด้านตลาดเงินตลาดทุนให้มีประสิทธิภาพ ไม่ลักลั่นและซ้ำซ้อน อาทิ กฎหมายดอดด์-แฟรงค์ อันเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภคและการปฏิรูปตลาดหลักทรัพย์ (Dodd–Frank Wall Street Reform and Consumer Protection Act) ที่เริ่มบังคับใช้ในสมัยปธน.โอบามา ซึ่งหอการค้าสหรัฐฯ ได้จัดทำข้อเสนอแนะเพื่อการปฏิรูปกฎระเบียบทางการเงินมากกว่าร้อยข้อตั้งแต่ปี 2559
  • ควรปฏิรูปขั้นตอนการออกกฎระเบียบ ที่ผ่านมา หอการค้าสหรัฐฯ ได้เป็นผู้นำในการผลักดันให้มีกฎหมายให้ผู้มีอำนาจรับผิดชอบต่อการออกกฎหมาย (Regulatory Accountability Act) มาโดยตลอด

นอกจากนี้ เอกชนยังคงเคลือบแคลงถึงการบังคับคดีให้บริษัทสหรัฐฯ จ่ายค่าปรับเป็นจำนวนหลายพันล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยไม่ได้มีการเปิดเผยว่ารัฐบาลนำเงินดังกล่าวไปใช้ทำอะไร จึงหวังให้ทั้งรัฐบาลใหม่และสภาคองเกรสชุดใหม่ รวมถึงสื่อมวลชนให้ความสนใจในเรื่องนี้เพิ่มมากขึ้น

  • รัฐบาลประธานาธิบดีทรัมป์จะตอบสนองต่อข้อเสนอของหอการค้าสหรัฐฯ มากเพียงใด ปี 2560 เป็นปีที่ทั่วโลกต้องจับตาดูนโยบายด้านการค้าและการลงทุนของรัฐบาลชุดใหม่ของสหรัฐฯ อย่างใกล้ชิดต่อไป
  • คำกล่าวของนายโดโนฮิวฉบับเต็มสามารถสืบค้นได้ที่ https://www.uschamber.com/speech/2017-state-american-business-address

โดย พรธิดา ญาณสมบูรณ์

รัชดา สุเทพากุล

31 มกราคม 2560

121 views

Newsletter Subscription

สนใจรับข่าวสารและกิจกรรมที่เป็นโอกาสของไทย
Email Address
Secure and Spam free...
Go to Top