รัฐบาล “ไบเดน” กับอนาคตการส่งออกของไทยที่มีโอกาสขยายตัวมากกว่าเดิม

2021-02-08T14:43:47-05:00February 8, 2021|Categories: เศรษฐกิจ|Tags: , , , , , , , , , |

“อเมริกากลับมาแล้ว และพร้อมจะนำพาโลก ไม่ใช่ถอยออกจากประชาคมโลก” คำมั่นสัญญาผ่านสุนทรพจน์หลังจากที่นายโจ ไบเดน สาบานตนเข้ารับตำแหน่งเป็นประธานาธิบดีคนที่ 46 ของสหรัฐอเมริกาเมื่อวันที่ 20 มกราคม 2564 ที่ผ่านมาแสดงให้เห็นได้ชัดว่า สหรัฐฯ พร้อมแล้วที่จะนำประเทศกลับเข้าสู่ความร่วมมือกับประชาคมโลก

ไบเดนยังได้เน้นย้ำอีกครั้งว่า สหรัฐฯ จะมีส่วนร่วมในประเด็นที่เป็นความท้าทายของโลก รวมถึงการฟื้นฟูความเป็นผู้นำของสหรัฐฯ ในเวทีโลก ซึ่งเป็นสัญญาณที่ดีว่า สหรัฐฯ จะเสริมสร้างความร่วมมือกับพันธมิตรในประเด็นที่มีความสำคัญหลากหลายรวมถึงด้านการค้า และกลับมาให้ความสำคัญกับการสร้างความร่วมมือแบบพหุภาคีและยึดถือกฎกติกาสากล เช่น กฎเกณฑ์ทางการค้าตามกลไกองค์การการค้าโลกมากขึ้น

ถึงแม้ว่าไบเดนจะออกนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศ แต่ประเทศไทยที่อยู่ห่างออกไปจากสหรัฐฯ ก็จะได้รับผลกระทบด้วยเช่นกัน มาตรการเยียวยาและมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของสหรัฐฯ การอัดฉีดเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจจะมีส่วนช่วยให้เศรษฐกิจและการจ้างงานของสหรัฐฯ โดยเฉพาะการฟื้นตัวของกลุ่มชนชั้นกลางที่เป็นกำลังซื้อหลักของประเทศ จะสนับสนุนให้สหรัฐฯ ฟื้นตัวได้ดีอย่างต่อเนื่อง

โดยล่าสุด ธนาคารโลกประเมินว่า เศรษฐกิจสหรัฐฯ ในปี 64 จะขยายตัว 3.5% ซึ่งจะส่งผลดีต่อกำลังการซื้อของชาวอเมริกัน รวมถึงเศรษฐกิจโลกและการซื้อสินค้าจากไทย ด้วยสหรัฐฯ เป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจขนาดใหญ่ที่สุดในโลกและเป็นตลาดส่งออกอันดับ 1 ของไทย

นางสาวพิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า เปิดเผยถึงแผนงานของคณะบริหารของประธานาธิบดีโจ ไบเดน ตามที่มีการเผยแพร่บันทึก (Memo) เมื่อวันที่ 17 ม.ค. 64 ไว้ว่า ภาพรวมปี 2563 แม้ว่าการส่งออกไทยจะติดลบ -6.01% แต่สำหรับการส่งออกไปตลาดสหรัฐฯ กลับขยายตัว 9.6% คิดเป็นมูลค่า 34,344 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นจากปี 2562 ที่มีมูลค่า 31,348 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ล่าสุดเฉพาะเดือนธันวาคมที่ผ่านมา การส่งออกมีมูลค่า 2,972 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือขยายตัวถึง 15.7% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน

ในขณะเดียวกัน นางขวัญนภา ผิวนิล ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครลอสแองเจลิส ได้ให้สัมภาษณ์กับประชาชาติธุรกิจถึงแนวโน้มการส่งออกสินค้าไทยไปยังตลาดสหรัฐในปี 2564 ว่า จะขยายตัวเพิ่มขึ้น 4-6% จากปี 2563 โดยประเมินจากปัจจัยบวกที่ว่า ภาวะเศรษฐกิจสหรัฐจะขยายตัว 4.2% ภายใต้รัฐบาลของไบเดน

สินค้าไทยส่วนใหญ่ที่ส่งออกไปสหรัฐฯ เป็นสินค้าอุปโภคบริโภคขั้นปลายน้ำ โดยมีกลุ่มสินค้าหลัก ได้แก่ อุปกรณ์คอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์ยาง อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป อุปกรณ์กึ่งตัวนำ ทรานซิสเตอร์ และไดโอด

นอกจากนี้ มาตรการเพื่อระงับการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่เข้มงวดมากขึ้น จะช่วยสร้างโอกาสการผลักดันการส่งออกสินค้าศักยภาพของไทยในกลุ่มที่เกี่ยวเนื่องกับการป้องกันโรค/ผลิตภัณฑ์การแพทย์ เช่น ถุงมือยาง อีกทั้ง ไทยควรเร่งผลักดันการส่งออกสินค้ากลุ่มที่ยังมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่องจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้แก่ อาหารทุกประเภท สินค้าที่เป็นกลุ่ม work from home เช่น คอมพิวเตอร์และชิ้นส่วน สินค้าไลฟ์สไตล์เฟอร์นิเจอร์ ของตกแต่งบ้านและชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์

อย่างไรก็ดี การขับเคลื่อนนโยบายตามแนวทาง “Buy American” ของ ปธน. ไบเดน ที่กำหนดให้ภาครัฐเพิ่มการจัดซื้อจัดจ้างสินค้าและบริการภายในประเทศเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้สินค้าเหล็ก อลูมิเนียม และวัตถุดิบสำคัญภายใต้โครงการสำคัญของรัฐบาล อาจสร้างแรงกดดันต่อการส่งออกสินค้าประเภทดังกล่าวจากไทยไปยังสหรัฐฯ และการกลับเข้าเป็นภาคีความตกลงปารีส ที่มีเป้าหมายเพื่อกำหนดมาตรการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ จะสร้างแรงกดดันต่อสินค้าที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและอาจส่งผลต่อการส่งออกรถยนต์สันดาปภายในของไทย

อีกทั้งอาจกระตุ้นให้ภาคเอกชนและผู้ประกอบการสหรัฐฯ ตื่นตัวกับแนวโน้มรักษ์โลกและพลังสะอาดและกำหนดเงื่อนไข/มาตรฐานของสินค้าที่เข้มงวดมากขึ้น เช่น การติดฉลากบ่งชี้ระดับการปล่อยคาร์บอนหรือการให้บริษัทผู้ผลิตเปิดเผยข้อมูลคาร์บอนฟุตพริ้นท์ (Carbon Footprint) ในห่วงโซ่อุปทานทั้งหมด ซึ่งอาจเป็นความท้าทายต่อผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดเล็ก

นางสาวพิมพ์ชนกฯ กล่าวว่า หากสหรัฐฯ ยึดกฎกติกาสากลและกลไกพหุภาคีมากขึ้น น่าจะช่วยลดความผันผวนหรือเหตุการณ์ไม่คาดฝันต่อเศรษฐกิจการค้าโลกซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการค้าไทย นอกจากนี้ นโยบายการสร้างความร่วมมือและพันธมิตรทางการค้า จะเปิดโอกาสการเจรจาให้ไทยขยายการค้าเพิ่มเติมกับสหรัฐฯ และคู่ค้า อื่น ๆ ที่มีศักยภาพ อย่างไรก็ดี ไทยต้องเตรียมความพร้อมประเด็นที่ไบเดนให้ความสำคัญ ซึ่งคาดว่าจะถูกหยิบยกมาเป็นเงื่อนไขการเจรจาการค้าในอนาคต เพื่อลดประเด็นปัญหาและสร้างบรรยากาศการสร้างความสัมพันธ์ทางการค้าที่ดีระหว่างกัน เช่น ประเด็นสิ่งแวดล้อม สิทธิมนุษยชนและแรงงาน รวมถึงการปกป้องทรัพย์สินทางปัญญา

เช่นเดียวกับมาตรการอื่นๆ ที่สหรัฐฯ ใช้ติดตามพฤติกรรมการค้าที่ไม่เป็นธรรม เช่น การติดตามนโยบายค่าเงินของประเทศคู่ค้า/การบิดเบือนค่าเงิน (currency manipulation) ซึ่งอาจใช้เป็นเหตุผลในการออกมาตรการอื่นๆ เช่น มาตรการภายใต้มาตรา 301 และการขึ้นภาษีตอบโต้การอุดหนุน (CVD) ต่อประเทศคู่ค้าที่แทรกแซงอัตราแลกเปลี่ยนให้ต่ำกว่ามูลค่าที่แท้จริง

917 views

Newsletter Subscription

สนใจรับข่าวสารและกิจกรรมที่เป็นโอกาสของไทย
Email Address
Secure and Spam free...
Go to Top