เศรษฐกิจที่กำลังฟื้นตัวของสหรัฐฯ ดึงดูดให้นักลงทุนต่างชาติตบเท้าเข้ามาลงทุนในทุกภาคอุตสาหกรรม

องค์การสหประชาชาติ (UN) คาดการณ์ว่า การฟื้นตัวอย่างเกินความคาดหมายของเศรษฐกิจสหรัฐฯ มีแนวโน้มจะทำให้สหรัฐฯ กลายเป็นจุดหมายสำคัญอันดับต้นๆ ของโลกสำหรับการลงทุนในต่างประเทศในปีนี้และปีหน้า โดยมีปัจจัยหลักมาจากแนวโน้มที่การใช้จ่ายของผู้บริโภคจะฟื้นตัวอย่างรวดเร็วและต่อเนื่อง รวมทั้งจากแผนโครงสร้างพื้นฐานมูลค่าหลายล้านล้านดอลลาร์สหรัฐของรัฐบาล

ตามสถิติของ UN ที่เผยแพร่เมื่อวันที่ 21 มิ.ย. ที่ผ่านมาระบุว่า การลงทุนในต่างประเทศของธุรกิจทั่วโลกลดลงหนึ่งในสามในปี 2563 จากปี 2562 โดยสหรัฐฯ มีสถิติการลงทุนที่ลดลง 40% แต่ยังคงครองตำแหน่งเหนือจีนได้อย่างหวุดหวิด แม้ว่าในเดือน  ม.ค. ที่ผ่านมา UN ได้คาดการณ์ว่า สหรัฐฯ จะสูญเสียตำแหน่งการเป็นผู้นำนี้ไป

สำหรับปี 2564 และ 2565 UN คาดว่า สหรัฐฯ จะรักษาตำแหน่งผู้นำตลาดด้านการลงทุนนี้ไว้ได้ โดยจีนจะอยู่ในอันดับที่สอง เนื่องจากนักลงทุนต่างชาติกำลังวางแผนขยายกำลังการผลิตเพื่อรองรับความต้องการขนาดใหญ่หลังเกิดโรคระบาด

ธนาคารกลางสหรัฐฯ คาดว่า เศรษฐกิจสหรัฐฯ จะเติบโต 7% ในปีนี้ โดยได้รับแรงสนับสนุนจากงบประมาณกระตุ้นเศรษฐกิจที่ได้รับอนุมัติเกือบ 6 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ และเงินออมเพิ่มเติมอีกประมาณ 2.6 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐที่ครัวเรือนชาวอเมริกันได้สะสมไว้ในช่วงการระบาดใหญ่

นาย มาร์ค วาสเซลลา ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ BlueScope Steel Ltd. ซึ่งเป็นบริษัทผลิตเหล็กกล้าของออสเตรเลียที่กำลังขยายกำลังการผลิตในสหรัฐฯ เพื่อตอบสนองความต้องการจากผู้ผลิตรถยนต์และบริษัทก่อสร้างที่เพิ่มขึ้น ได้แสดงเชื่อมั่นอย่างมากในเศรษฐกิจของสหรัฐฯ โดนเฉพาะในช่วงเวลานี้

ในขณะที่เศรษฐกิจสหรัฐฯ และเศรษฐกิจโลกในวงกว้างฟื้นตัวเร็วกว่าที่คาดไว้มากในช่วงต้นปี ผลจากการประชุม UN Conference on Trade and Development หรือ UNCTAD ได้สรุปผลการคาดการณ์ว่า ธุรกิจทั่วโลกจะเพิ่มการลงทุนในต่างประเทศ 10-15% ในปีนี้ และอีก 20-30% ในปี 2565 ซึ่ง

นั่นหมายถึงการลงทุนจากต่างประเทศจะกลับมาสูงกว่าระดับก่อนเกิดโรคระบาด อย่างไรก็ตาม ไม่น่าเป็นไปได้ที่กระแสการลงทุนจากต่างประเทศจะเกินระดับสูงสุดที่เคยเกิดขึ้นในช่วงก่อนวิกฤตการเงินโลกเมื่อปี 2550 ในเร็ว ๆ นี้

กระแสการลงทุนจากต่างประเทศเพิ่มขึ้นอย่างมากในช่วงต้นยุค ค.ศ. 1980 หรือปี 2523 จนถึงช่วงเริ่มต้นของวิกฤตการเงินโลกในปี 2550 โดยได้แตะระดับสูงสุดที่ 1.8 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ และแม้ว่าต่อมาการลงทุนของประเทศที่ร่ำรวยจะค่อยๆ ไต่ระดับขึ้นไปอย่างช้าๆ โดยเฉพาะประเทศในยุโรป แต่สถิติการลงทุนก็ได้พุ่งสูงขึ้นทำลายสถิติสูงสุดที่ 2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2558

อย่างไรก็ดี ในปี 2563 ที่ผ่านมา สถิติการลงทุนจากต่างประเทศมีมูลค่ารวมอยู่ที่ 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเป็นสถิติที่ต่ำสุดในรอบ 15 ปี

ตอนนี้ บริษัทอย่าง BlueScope มองเห็นโอกาสที่สดใสกว่า โดยบริษัทฯ กำลังใช้เงิน 700 ล้านดอลลาร์สหรัฐในการเพิ่มขีดความสามารถในการหลอมเหล็กในโรงงานขนาดเล็ก North Star ในเมือง Delta รัฐโอไฮโอ

แผนการขยายกิจการดังกล่าวได้รับการอนุมัติในปี 2562 และจะเริ่มผลิตเหล็กในต้นปีหน้า ซึ่งจะสามารถเพิ่มประมาณการผลิตได้อีก 850,000 เมตริกตันต่อปี จากกำลังการผลิตปัจจุบันของโรงงานประมาณ 2.1 ล้านตัน นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังมีอีกโครงการมูลค่าประมาณ 200 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อเพิ่มกำลังการผลิตที่โรงสี ที่น่าจะได้รับการอนุมัติได้ในไม่ช้านี้

นายวาสเซลลา กล่าวว่า อุปสงค์เหล็กที่พุ่งสูงขึ้นจากผู้ผลิตรถยนต์และบริษัทก่อสร้างในสหรัฐฯ ที่ส่งผลให้ราคาเหล็กในสหรัฐฯ สูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ มีแนวโน้มว่าจะเร่งโครงการดังกล่าวให้เร็วขึ้น

กลุ่มบริษัทในยุโรปกำลังวางแผนที่จะขยายกิจการในบริษัท U.S. Nestlé Purina Petcare ซึ่งเป็นบริษัทในเครือข้ามชาติของสวิสเซอร์แลนด์ โดยมีแผนที่จะใช้งบประมาณราว 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐเพื่อสร้างโรงงานแห่งใหม่ 2 แห่งในรัฐโอไฮโอและรัฐนอร์ทแคโรไลนา เพื่อตอบสนองความต้องการที่มากขึ้นของลูกค้า

ตามรายงานของ American Pet Products Association  ระบุว่า ยอดขายอาหารสัตว์เลี้ยงในสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นเกือบ 10% ในปีที่แล้วเป็น 42,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นอีก 5% ในปีนี้ โดยมีสาเหตุหลักมาจากการที่ผู้คนถูกจำกัดอยู่แต่ในบ้าน และมีสัตว์เลี้ยงตัวใหม่ หรือให้ความสำคัญกับสุขภาพของสัตว์ที่มีอยู่มากขึ้น

ในขณะเดียวกัน บริษัทผู้ผลิตยารายใหญ่สัญชาติอังกฤษ AstraZeneca กำลังวางแผนซื้อกิจการ Alexion Pharmaceuticals ในบอสตัน รวมมูลค่า 3.9 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อลงทุนในอุตสาหกรรมยาสำหรับโรคหายาก

เมื่อปีที่ผ่านมา บริษัท CLAAS GmbH ผู้ผลิตอุปกรณ์การเกษตรของเยอรมนี ได้ลงทุนเพื่อขยายโรงงานในเมือง Omaha รัฐเนแบรสกา เพิ่มขึ้น 20% โดยนาย ลีฟ แมกนัสซัน หัวหน้าฝ่ายขายของบริษัทในภูมิภาคอเมริกากล่าวว่า การผลิตที่โรงงานเพิ่มขึ้นประมาณ 25% ในปีที่แล้ว เนื่องจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลสนับสนุนให้เกษตรกรอัพเกรดเครื่องจักรของตน และเขาคาดว่า การผลิตในสหรัฐฯ จะเพิ่มขึ้นอีก 15-20% ในปีนี้

อย่างไรก็ดี นาย เจมส์ ซาน ผู้อำนวยการฝ่ายการลงทุนและองค์กรของ UNCTAD กล่าวว่า อุปสรรคในระยะสั้นประการหนึ่ง คือการเจรจาเพื่อยกเครื่องกฎเกณฑ์การเก็บภาษีบริษัทข้ามชาติ (Global Minimum Tax) ที่ร่วมเจรจาโดยรัฐบาล 135 แห่ง ซึ่งความไม่แน่นอนว่าจะต้องเสียภาษีมากน้อยเพียงใดและที่ใด อาจส่งผลให้แผนการลงทุนเกิดความล่าช้ามากขึ้น

อ้างอิงข้อมูลจาก

https://www.wsj.com/articles/turbocharged-u-s-economy-attracts-foreign-investors-11624263520

337 views

Newsletter Subscription

สนใจรับข่าวสารและกิจกรรมที่เป็นโอกาสของไทย
Email Address
Secure and Spam free...
Go to Top