พฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไปหลังการล็อกดาวน์

สหรัฐฯ อยู่ในช่วงแห่งการเริ่มปรับตัวเข้าสู่การใช้ชีวิตปกติ แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า ได้เกิดการเปลี่ยนแปลงในชีวิตประจำวันขึ้นแล้ว ทั้งนโยบายการทำงานจากบ้านที่มีความยืดหยุ่นมากขึ้น และความห่วงกังวลเกี่ยวกับสุขภาพที่จะยังไม่หมดไป

บริษัท SPINS ผู้นำด้านบริการวิจัยตลาดการค้าปลีก ได้รวบรวมข้อมูลจากการสำรวจร้านค้าปลีกรายใหญ่และรายย่อย และได้สรุปผลออกมาเป็นบทเรียนสำคัญ 5 ประการที่ผู้ค้าปลีกจำเป็นต้องคำนึงถึง และนำมาปรับใช้กับกลยุทธ์ทางการตลาดของตน เพื่อตอบสนองต่อสถานการณ์และพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป

  1. การช้อปปิ้งออนไลน์จะยังคงอยู่ต่อไป

การรับสินค้า ณ จุดที่กำหนด การใช้แอพพลิเคชั่นเผื่อสั่งซื้อสินค้าจากมือถือ และการซื้อของผ่านช่องทางอีคอมเมิร์ซ สามารถช่วยให้ผู้บริโภคคลายข้อกังวลและลดความยุ่งยากในการซื้อสินค้าภายในร้านค้าไปได้มาก และเพราะลูกค้าได้รู้จักกับความสะดวกสบายในการจับจ่ายผ่านออนไลน์มาแล้ว จึงไม่น่าแปลกใจว่า พฤติกรรมของผู้บริโภคหลังการผ่อนคลายล็อกดาวน์จะไม่กลับมาเหมือนเดิมในระยะเวลาอันรวดเร็ว รวมทั้งลูกค้าจะคาดหวังที่จะได้รับบริการเหล่านี้ต่อไปในอนาคต ตัวอย่างเช่น พ่อแม่ที่มีงานยุ่งและต้องออกจากที่ทำงานไปรับลูก ๆ ที่โรงเรียนแล้วกลับบ้านไปทำอาหารเย็น การสั่งซื้อออนไลน์และนัดรับสินค้าหน้าร้าน (curbside pickup) จึงเป็นตัวเลือกอย่างดีในการช่วยประหยัดเวลาได้มากขึ้น

  1. ผู้บริโภคเชื่อมั่นในผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติ

ในช่วงที่ผ่านมา ผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติกลายเป็นวัตถุดิบและอาหารสำหรับทุกครัวเรือน เนื่องจากผู้บริโภคหันมาให้ความสำคัญกับสุขภาพมากขึ้น โดยในเดือนเมษายน 2563 ผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติมียอดขายคิดเป็นมูลค่าเพิ่มขึ้น 19.2% เมื่อเทียบเป็นรายปี และเพิ่มขึ้นเป็น 27.2% ในเดือนพฤษภาคม และแม้ว่าการปลดล็อกดาวน์จะมาถึงเร็วกว่ากำหนด สินค้าจากธรรมชาติก็ยังคงทำผลงานได้ดีกว่าสินค้าทั่วไป ซึ่งในเดือนมกราคม 2564 ยอดขายผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติยังคงเพิ่มขึ้น 15.7% เมื่อเทียบกับการเพิ่มขึ้น 13.5% ของผลิตภัณฑ์ทั่วไป

  1. ผู้บริโภคยังต้องการผู้ค้าปลีกทั้งรายใหญ่และรายย่อย

แม้ว่าการที่ผู้บริโภคต้องการซื้อสินค้าให้ครบทุกรายการจากการออกไปช้อปปิ้งครั้งเดียว จะส่งผลให้ร้านค้าปลีกรายย่อยเกิดความเสียเปรียบ  แต่จากข้อมูลพบว่า ผู้บริโภคยังคงใช้บริการทั้งร้านค้าปลีกรายใหญ่ระดับภูมิภาคและรายย่อยอย่างต่อเนื่อง ซึ่ง loyalty นี้น่าจะมีสาเหตุจากเทรนด์ด้านสุขภาพและการมีร้านค้าที่ตอบสนองความต้องการของลูกค้าในด้านนี้ โดยร้านค้าปลีกภูมิภาคและร้านค้าปลีกอิสระมีการเติบโตสูงสุดในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา นับเป็นยอดขายเพิ่มขึ้นกว่า 16.6%

  1. ความยั่งยืนไม่ใช่เป็นเพียงแค่เทรนด์

ในปัจจุบัน หากพูดถึงความยั่งยืนของสินค้า มักจะเป็นเรื่องเกี่ยวกับสวัสดิภาพของสัตว์ บรรจุภัณฑ์ และการผลิตทางการเกษตร โดยแม้ว่า จะมีผลิตภัณฑ์ให้เลือกอย่างหลากหลาย แต่ผู้บริโภคยังคงหันมาเลือกผลิตภัณฑ์ที่เน้นความยั่งยืน ดังเห็นได้จากสถิติผลิตภัณฑ์ที่มีการดูแลสวัสดิภาพสัตว์ มีการเติบโตเพิ่มขึ้น 21.9% ผลิตภัณฑ์จากสัตว์ที่เลี้ยงในธรรมชาติเพิ่มขึ้น 15.3% และสินค้าที่ทำการค้าอย่างเป็นธรรมเพิ่มขึ้น 13.7% ซึ่งผู้ผลิตต่างก็มุ่งมั่นที่จะแสดงให้ผู้บริโภคมองเห็นว่า พวกเขาใส่ใจและให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม ต่อพนักงาน และสัตว์ และการแข่งขันเพื่อเอาชนะใจเหล่าผู้บริโภคก็เข้มข้นขึ้นเรื่อย ๆ

  1. เทรนด์สินค้า On-the-Go จะกลับมา

ในช่วงเริ่มต้นการล็อกดาวน์ ผู้บริโภคแห่กักตุนสินค้า แต่ในช่วงไม่กี่เดือนถัดมา ผู้คนไม่สามารถเดินทางได้ และไม่มีความจำเป็นการจับจ่ายสินค้าจำพวกของว่างและเครื่องดื่มแบบ on-the-go แต่เมื่อชีวิตกลับมาใกล้เคียงกับปกติอีกครั้ง เทรนด์ดังกล่าวจะกลับมา ร้านค้าปลีกจะต้องสามารถมอบความสะดวกระหว่างเดินทาง เพื่อให้ชีวิตของลูกค้าลื่นไหลไร้อุปสรรค

โรคระบาดเป็นสิ่งที่ไม่มีใครอยากให้เกิดซ้ำ แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในครั้งนี้กลายเป็นสิ่งที่เปลี่ยนแปลงชีวิตผู้คน ทั้งชั่วคราวและถาวร ผลกระทบต่อพฤติกรรมผู้บริโภคบางอย่างจะยังอยู่ต่อไป ผู้ค้าปลีกจะต้องหาวิธีที่จะรองรับความต้องการของผู้บริโภค มองแนวโน้มให้ออก เพื่อการเป็นผู้นำในตลาดที่มีความไม่แน่นอน มากกว่าที่จะยึดติดกับ “ความปกติ” ก่อนการแพร่ระบาด เพราะนี่จะเป็นโอกาสที่จะเชื่อมต่อกับผู้บริโภค และสร้างตัวเองในฐานะผู้ค้าปลีกที่รู้ว่า ผู้บริโภคกำลังมองหาอะไรจากความเปลี่ยนแปลง ความไม่แน่นอน และกิจวัตรใหม่ ๆ ของพวกเขา

อ้างอิงข้อมูลจาก

https://www.supermarketnews.com/consumer-trends/life-after-lockdown-5-tips-retailers-planning-ahead  

406 views

Newsletter Subscription

สนใจรับข่าวสารและกิจกรรมที่เป็นโอกาสของไทย
Email Address
Secure and Spam free...
Go to Top