สหรัฐฯ เพิ่มค่าแรงขั้นต่ำต้อนรับปีใหม่ใน 27 เขต เป็นชั่วโมงละ 15 ดอลลาร์สหรัฐ

เริ่มต้นปีด้วยข่าวดีเกี่ยวกับตลาดแรงงานในสหรัฐฯ เมื่อกฎหมายเรื่องการเพิ่มขึ้นของค่าแรงขั้นต่ำใน 20 รัฐ และ 32 เมืองและเขตเทศมณฑล มีผลบังคับใช้แล้วตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ.2564 เป็นต้นไป โดยในจำนวนนี้ มี 27 เขต ที่จะปรับค่าแรงขั้นต่ำให้ลูกจ้างเป็น 15 ดอลลาร์สหรัฐต่อชั่วโมงหรือมากกว่านั้น

การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำในครั้งนี้ถือว่าเป็นการเพิ่มค่าจ้างสูงสุดนับตั้งแต่มีการชุมนุมเรียกร้องให้มีการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำที่เริ่มขึ้นในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2555 ที่หน้าร้านแม็คโดนัลด์หลายสาขา ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความแข็งแกร่งและต่อเนื่องของการเคลื่อนไหวทางสังคมนี้

ตั้งแต่เริ่มแรกของการชุมนุมเพื่อต่อสู้ในการเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำมาเป็น 15 ดอลลาร์สหรัฐ แกนนำหลัก ๆ ของการเรียกร้องนี้ เป็นกลุ่มคนงานชาวแอฟริกันอเมริกัน ซึ่งได้ทำการเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องการขอรับค่าจ้างในอัตราที่สูงขึ้น พร้อมทั้งเรียกร้องสิทธิในการต่อรองร่วมกัน และสิทธิในด้านความปลอดภัยและศักดิ์ศรีในการทำงาน

โดยภายหลังจากนี้ ในช่วงตลอดปี พ.ศ.2564 จะมีอีก 5 รัฐและ 18 เขตการปกครอง ที่จะเพิ่มเพดานค่าจ้างขั้นต่ำ ซึ่งในจำนวนนี้ มี 13 เขตการปกครอง ที่จะมีอัตราค่าจ้างขั้นต่ำมากกว่า 15 ดอลลาร์สหรัฐ โดยสรุปแล้ว ภายในสิ้นปี พ.ศ.2564 จะมีเมืองและเขตเทศมณฑลจำนวน 40 เขต ที่จะมีอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ 15 ดอลลาร์สหรัฐ หรือมากกว่า

อัตราค่าจ้างที่เพิ่มขึ้นนี้ เกิดขึ้นในช่วงที่ลูกจ้างหลายล้านคนกำลังประสบปัญหาการว่างงาน ท่ามกลางสภาวะเศรษฐกิจถดถอยที่เกิดจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยพนักงานหลายคนต้องถูกลดค่าจ้างและจำนวนชั่วโมงลง นอกจากนี้ พนักงานบริการหลายคนยังไม่สามารถทำงานจากที่บ้านได้ และด้วยลักษณะงานที่ต้องพบปะกับลูกค้า ทำให้พวกเขามีความเสี่ยงมากขึ้นในการติดเชื้อไวรัส ซึ่งในช่วงแรก เจ้าของกิจการค้าปลีกหลายราย ได้ประกาศให้ค่าจ้างพิเศษสำหรับกลุ่มพนักงานเหล่านี้ หรือที่เรียกว่า “ hero pay” แต่ในภายหลัง ก็ได้มีการยกเลิกค่าจ้างดังกล่าวอย่างเงียบ ๆ แม้ว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ยังคงทวีความรุนแรงขึ้นอย่างต่อเนื่องในหลายรัฐ

อย่างไรก็ตาม กลุ่มธุรกิจจำนวนมากออกมาโต้แย้งว่า การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำจะส่งผลกระทบต่อธุรกิจขนาดเล็กซึ่งได้รับความเสียหายจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 มาก่อนหน้านี้ โดยร้านอาหารมากกว่า 110,000 แห่งทั่วประเทศ ได้รับผลกระทบและต้องปิดตัวลงอย่างถาวรแล้วในช่วงที่เกิดการแพร่ระบาด

จากผลการศึกษาของสำนักงานงบประมาณรัฐสภา (Congressional Budget Office) เมื่อปี พ.ศ. 2562 พบว่า การปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำในระดับสหพันธรัฐเป็น 15 ดอลลาร์สหรัฐต่อชั่วโมง จะส่งผลให้แรงงานที่เดิมได้รับค่าจ้างต่ำกว่า 15 ดอลลาร์สหรัฐต่อชั่วโมง จำนวน 17 ล้านคน ได้รับค่าจ้างเพิ่ม และแรงงานอีก 10 ล้านคนที่เดิมได้รับค่าจ้างมากกว่า 15 ดอลลาร์สหรัฐต่อชั่วโมงเล็กน้อย ได้รับค่าจ้างเพิ่มเช่นเดียวกัน ในขณะที่อาจส่งผลให้ลูกจ้างถูกเลิกจ้างงานจำนวน 1.3 ล้านคน

19,792 views

Newsletter Subscription

สนใจรับข่าวสารและกิจกรรมที่เป็นโอกาสของไทย
Email Address
Secure and Spam free...
Go to Top