ไทยตกอันดับผู้ส่งออกอาหารโลก สถาบันอาหารคาดปีนี้จะดีขึ้นหลังโควิด-19 ควบคุมได้

สถาบันอาหารคาดส่งออกอาหารไทยปีนี้ปรับตัวดีขึ้นหลังจากที่ไทยตกอันดับประเทศผู้ส่งออกอาหารจากอันดับที่ 11 ไปเป็นอันดับที่ 13 ของโลกในปีที่แล้ว ย้ำสถานการณ์จะดีขึ้นหากประเทศคู่ค้าสามารถจัดการกับปัญหาการแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้ดี

นางอนงค์ ไพจิตรประภาภรณ์ ผู้อำนวยการสถาบันอาหาร เปิดเผยข้อมูล การส่งออกสินค้าอาหารไทยในปี 2563 ว่า มีมูลค่า 980,703 ล้านบาท ซึ่งลดลง 4.1% คิดเป็นมูลค่าส่งออก 31,284 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลง 5.1% คิดเป็นส่วนแบ่งตลาดโลกของไทยอยู่ที่ 2.32% ลดลงจากสัดส่วน 2.49% ในปี 2562 ทำให้อันดับประเทศผู้ส่งออกอาหารของไทยตกลงมาอยู่ในอันดับที่ 13 ของโลก จากอันดับที่ 11 ในปี 2562 เนื่องจากผลพวงของการแพร่ระบาดของโควิด-19

โดยการหดตัวแบ่งเป็นในตลาดกลุ่มประเทศแอฟริกาใต้สะฮารา -29.1% อาเซียน -17.7% สหภาพยุโรป -11% กลุ่มประเทศตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือ -11.3% และสหราชอาณาจักร -12.1% ปัจจุบันจีนเป็นตลาดส่งออกอาหารอันดับ 1 ของไทย มีสัดส่วนส่งออก 18.3% รองลงมา ได้แก่ CLMV (กัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม) 13.9% และญี่ปุ่น 12.7%

“สินค้าอาหารไทยพึ่งพิงตลาดส่งออกในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาในภูมิภาคอย่างจีน และ CLMV มากขึ้น โดยมีสัดส่วนส่งออกรวมกันสูงถึง 32.2% เพิ่มขึ้นจากสัดส่วน 12.1% ในช่วง 10 ปีก่อน โดยไทยส่งออกสินค้าไปยังจีนเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 19.6% และ CLMV เพิ่มขึ้น 8.9% ต่อปี” นางอนงค์กล่าว

ส่วนตลาดในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วอย่างญี่ปุ่นเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อยอยู่ที่ 1.4% สหรัฐอเมริกาเพิ่มขึ้น 0.5% ขณะที่สหภาพยุโรป -3.1% และสหราชอาณาจักรลดลง -0.9% ซึ่งปัจจุบันมีสัดส่วนส่งออกรวมกัน 32.4% ลดลงจาก 42.4% ในช่วง 10 ปีก่อน

ประเทศไทยเป็นหนึ่งในผู้ผลิตและส่งออกอาหารรวมถึงผลิตภัณฑ์อาหารแปรรูป 10 อันดับแรกของโลกมาตลอด อุตสาหกรรมอาหารมีสัดส่วนมากถึง 28 % ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ ปัจจัยส่งเสริมที่สำคัญ ได้แก่ ทรัพยากรธรรมชาติของประเทศ ฤดูกาลเพาะปลูกตลอดทั้งปี ต้นทุนแรงงานที่ค่อนข้างต่ำ และแรงงานที่มีทักษะดี ทำให้ประเทศไทยมีข้อได้เปรียบในการแข่งขันในเวทีแปรรูปอาหาร โดยประเทศไทยผลิตวัตถุดิบมากกว่าร้อยละ 80 ของอุตสาหกรรมอาหารที่ใช้ประเทศไทย และเป็นหนึ่งในผู้ผลิตและผู้ส่งออกรายใหญ่ที่สุด ในปี 2551

ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ไทยเป็นซัพพลายเออร์กุ้งรายใหญ่ที่สุดของสหรัฐฯ และเป็นซัพพลายเออร์ปลาและอาหารทะเลรายใหญ่อันดับ 4 ของโลก ปลาและเนื้อสัตว์ของไทยเป็นอาหารส่งออกอันดับหนึ่งของไทยไปยังสหรัฐฯ โดยสหรัฐฯ เองก็นำเข้าผลิตภัณฑ์เหล่านี้จากไทยมากกว่าจากประเทศคู่ค้าอื่น ๆ

สำหรับแนวโน้มการส่งออกสินค้าอาหารไทยปี 2564 สถาบันอาหารคาดว่าจะมีมูลค่า 1,050,000 ล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้น 7.1% โดยมีปัจจัยสนับสนุนหลักมาจากความต้องการสินค้าในตลาดโลกมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นตามภาวะเศรษฐกิจหลังจากที่หลายประเทศเริ่มมีการให้วัคซีนป้องกันโควิด-19 แก่ประชาชน ประกอบกับราคาสินค้าเกษตรและอาหารที่เพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าไก่ น้ำตาล ผลิตภัณฑ์มันสำปะ หลัง และสับปะรด

อย่างไรก็ดี ยังมีปัจจัยเสี่ยงที่อาจทำให้การส่งออกไม่เป็นไปตามเป้า ได้แก่ การขาดแคลนวัตถุดิบของโรงงานแปรรูป อาหาร โดยเฉพาะอุตสาหกรรมแปรรูปอาหารทะเลที่เน้นผลิตเพื่อ การส่งออก เช่น กุ้ง ปลาทะเล ปลาหมึก ค่าเงินบาทมีแนวโน้มแข็งค่าสวนทางดัชนีเงินดอลลาร์สหรัฐที่อ่อนค่าลง ซึ่งจะกระทบกับกลุ่มอาหารส่งออกที่มีการใช้ปัจจัยการผลิตภายในประเทศในสัดส่วนที่สูง เช่น กุ้งแช่แข็ง สับปะรดกระป๋อง ไก่ น้ำตาลทราย ข้าว และผักผลไม้สด เป็นต้น

นอกจากนี้ ยังมีปัญหาเรื่องต้นทุนค่าขนส่งทางเรือเพิ่มสูงขึ้น จากปัญหาการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์และค่าระวางเรือที่เพิ่มสูงขึ้น รวมทั้งต้นทุนการผลิตและค่าขนส่งภายในประเทศที่มาจาก การเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมันในตลาดโลก

2,494 views

Newsletter Subscription

สนใจรับข่าวสารและกิจกรรมที่เป็นโอกาสของไทย
Email Address
Secure and Spam free...
Go to Top