ตลาดของเล่น-อุปกรณ์กีฬาสหรัฐฯ ขยายตัวต่อเนื่อง แนะผู้ผลิตส่งออกไทยเร่งขยายตลาดบนข้อได้เปรียบทางการค้า

ท่ามกลางการระบาดของโควิด -19 ครอบครัวในสหรัฐอเมริกาหันมาทำกิจกรรมกลางแจ้งในครอบครัวกันมากขึ้น ตามนโยบายการเฝ้าระวังและป้องกันการแพร่เชื้อโรคโควิด-19 ด้วยการอยู่บ้านและรักษาระยะห่างทางสังคม รวมไปถึงผลพวงการยกเลิกการจัดกรรมภายนอกต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการหยุดการเรียนการสอน หรือยกเลิกการจัดแข่งขันกีฬา ส่งผลให้ยอดขายของเล่นกลางแจ้งและอุปกรณ์กีฬาเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในเดือนเมษายน ปี 2563 (ซึ่งเป็นช่วงแรก ๆ ของการแพร่ระบาดของเชื้อโรคโควิด-19) มีมูลค่าถึง 193 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยเดอะเอ็นพีดี กรุ๊ป (The NPD Group) ของสหรัฐฯ รายงานว่า ยอดการจำหน่ายดังกล่าวเพิ่มขึ้นสูงถึงร้อยละ 51 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้า โดยการขยายตัวของตลาดผลิตภัณฑ์ในกลุ่มกลางแจ้งและกีฬาคิดเป็นอัตราร้อยละ 53 ของการเติบโตของตลาดของเล่นโดยรวมในสหรัฐฯ ซึ่งเติบโตขึ้นร้อยละ 22 ในเดือนเมษายน 2563

การขยายตัวของตลาดสินค้าหมวดหมู่ของเล่นกลางแจ้งและกีฬา ได้รับแรงหนุนจากสินค้าหลายหมวดหมู่ที่ได้รับอานิสงส์จากสถานการณ์เงินดอลลาร์แข็งค่าในช่วงเดือนเมษายน ได้แก่ อุปกรณ์สำหรับสนามเด็กเล่น (+ ร้อยละ 81) สเก็ต / สเก็ตบอร์ด / สกูตเตอร์ (+ ร้อยละ107) เครื่องเล่น (+ ร้อยละ 78), ของเล่นน้ำ / ทรายและอุปกรณ์เสริม (+ ร้อยละ 47), สระว่ายน้ำ (+ ร้อยละ 161) และกิจกรรมและเกมกีฬา (+ ร้อยละ 25)

เอ็นพีดี กรุ๊ป รายงานอีกว่า ยอดขายอุตสาหกรรมของเล่นตั้งแต่เดือนมกราคม – กันยายน หรือ 3 ไตรมาสแรกของปี 2563 เพิ่มขึ้นในอัตราร้อยละ 19.1 คิดเป็นมูลค่า 2.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ส่งผลให้มูลค่าตลาดรวมเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 13.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

ในขณะเดียวกันเมื่อช่วงกลางเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) กระทรวงพาณิชย์ ได้มีคำแนะนำสำหรับผู้ผลิต ผู้ส่งออกของเล่นและอุปกรณ์กีฬาของไทย ในการวางแผนขยายตลาดส่งออกสหรัฐฯ เนื่องจากการขยายตัวอย่างก้าวกระโดดของสินค้าประเภทนี้ และหวังที่จะเห็นความต้องการเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ทั้งยังได้เปิดเผยข้อมูลอันน่าสนใจที่ว่า สินค้าไทยมีความได้เปรียบหลายรายการ เนื่องจากไม่ต้องเสียภาษีนำเข้า แต่คู่แข่งที่สำคัญของไทยคือ จีน เวียดนาม และไต้หวัน ยังต้องเสียภาษีนำเข้าอยู่ ทั้งนี้ในส่วนของผู้ผลิตผู้ส่งออกไทยจะต้องใช้ข้อได้เปรียบให้เป็นประโยชน์ และวางแผนในการส่งออกต่อไป ที่สำคัญคือจะต้องไม่หยุดการพัฒนาคุณภาพ มาตรฐาน รวมไปถึงการประชาสัมพันธ์อย่างต่อเนื่อง

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ (สคต.) นิวยอร์ก ระบุว่า ในปี 2563 ยอดจำหน่ายของเล่นในสหรัฐฯ มีมูลค่าถึง 25,100 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 16 โดยสินค้าที่มีการจำหน่ายเพิ่มขึ้นมากที่สุด ได้แก่ รองเท้าสเก็ต สเก็ตบอร์ด และสกูตเตอร์ รองลงมา คือ ตุ๊กตาแฟชั่นและอุปกรณ์ตกแต่ง และของเล่นชุดสำหรับก่อสร้างและเสริมจินตนาการ

“ผู้บริโภคในตลาดดังกล่าวมีกำลังและมีความพึงพอใจในการซื้อค่อนข้างสูง จึงทำให้ตลาดมีการเติบโตเป็นที่น่าพอใจ ซึ่งไทยเป็นผู้ผลิตให้กับแบรนด์ดังหลายรายในสหรัฐฯ และค่อนข้างได้เปรียบในเรื่องการเป็นแหล่งผลิตที่มีคุณภาพและน่าเชื่อถือ และอานิสงส์จากการไม่เสียภาษีนำเข้า จึงทำให้ผู้นำเข้ามีความสนใจในสินค้าไทย แต่ข้อจำกัดของไทยบางประการที่อาจจะลดความสามารถในการแข่งขันกับประเทศอื่น ๆ คือ การพัฒนาสินค้าและต้นทุนแรงงานสูง” นายนพดล ทองมี ผอ.สคต.นิวยอร์ก กล่าว

อย่างไรก็ตาม จูลี เลนเนต ที่ปรึกษาอุตสาหกรรมของเล่น เอ็นพีดี ได้ให้ความเห็นว่า จากตัวเลขที่ปรากฏเห็นได้ชัดว่าการระบาดส่งผลดีต่อยอดขายของเล่นในไตรมาสที่ 2 และ 3 ของปีที่ผ่านมา ของเล่นกลางแจ้งและกีฬาคิดเป็นร้อยละ 36 ของกำไรในอุตสาหกรรมประเภทนี้ทั้งหมด และยังคงเติบโตอย่างโดดเด่นและแข็งแกร่งที่สุด ด้วยยอดขายเกือบ 3.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ แต่ถึงแม้ว่ายอดขายที่ปรากฏจะเป็นตัวเลขที่น่าประทับใจ แต่ก็มีปัจจัยสำคัญหลายประการที่จะส่งผลต่อการเติบโตในปี 2564 และในปีต่อ ๆ ไป ไม่ว่าจะเป็นหนี้ครัวเรือนที่เพิ่มสูงขึ้น และอัตราการว่างงานที่เพิ่มมากขึ้น อาจเป็นการขาดการจับจ่ายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ หรือความล่าช้าในการพัฒนาและแจกจ่ายวัคซีน รวมถึงการล็อกดาวน์ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต หรือปัจจัยของความยืดหยุ่นและอารมณ์ความรู้สึกของผู้บริโภค โดยเฉพาะในช่วงเวลาแห่งความท้าทายเช่นนี้

อ้างอิงข้อมูลจาก:

730 views

Newsletter Subscription

สนใจรับข่าวสารและกิจกรรมที่เป็นโอกาสของไทย
Email Address
Secure and Spam free...
Go to Top