กระทรวงพลังงานสหรัฐฯ เผยแนวทางการก้าวไปสู่การปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์ภายในปี 2593

การเปลี่ยนสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) หรือภาวะโลกร้อน (Global Warming) คือวิกฤตสภาพภูมิอากาศ (climate crisis) ที่ทั่วโลกกำลังเผชิญ ซึ่งนับเป็นความท้าทายที่ไม่มีประเทศใดหลีกเลี่ยงได้ และเพื่อเป็นการบรรเทาผลกระทบอันเลวร้ายที่สุดที่อาจเกิดจากวิกฤติการณ์ทางสิ่งแวดล้อม กระทรวงพลังงานสหรัฐฯ จึงประกาศแนวทางเพื่อให้สามารถบรรลุเป้าหมายของรัฐบาลชุดปัจจุบันในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ภายในปี 2593 หรืออีกประมาณ 30 ปีข้างหน้า

ปัจจุบัน เกือบ 40% ของมลพิษจากคาร์บอนไดออกไซด์ทั้งหมดมาจากโรงไฟฟ้า ซึ่งเกิดจากกระบวนการเผาเชื้อเพลิงฟอสซิล เพื่อสร้างพลังงานให้ผู้คนได้ใช้ในทุก ๆ วัน นั่นหมายความว่า แหล่งพลังงานหมุนเวียนจะต้องเข้ามามีบทบาทในการปฏิวัติวิธีผลิตและใช้ไฟฟ้า เช่น พลังงานลมและพลังงานแสงอาทิตย์ ซึ่งไม่มีวันหมดไป และจะต้องสามารถผลิตพลังงานที่มีปริมาณมากขึ้น ราคาถูกลง และทุกคนสามารถเข้าถึงได้ง่ายขึ้น

เมื่อไม่นานมานี้ กระทรวงพลังงานสหรัฐฯ (DOE) ได้ประกาศเป้าหมายอย่างชัดเจน 2 ประการ คือ (1) การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลมนอกชายฝั่ง 30 กิกะวัตต์ภายใน 10 ปี และ (2) การลดต้นทุนพลังงานแสงอาทิตย์ในปัจจุบันลง 60% ภายในปี 2573 ซึ่งประกาศดังกล่าวนี้ ถือเป็นเป้าหมายสำคัญสำหรับการรับมือวิกฤตสภาพภูมิอากาศ พร้อมไปกับการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจหลังการระบาดของโรคโควิด-19

นอกจากนี้ การเพิ่มการผลิตพลังงานจากลมและแสงอาทิตย์ จะช่วยสร้างงานที่มีรายได้ดีหลายล้านตำแหน่ง ด้วยการสร้างและปรับขนาดเทคโนโลยีที่จะขับเคลื่อนการใช้ชีวิตในบ้านของชาวอเมริกัน รวมไปถึงการสนับสนุนเพื่อการพัฒนาชุมชน

ด้วยความร่วมมือของกระทรวงมหาดไทย กระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงคมนาคม เป้าหมายใหม่ของกระทรวงพลังงานสหรัฐฯ ในการผลิตพลังงานจากลมนอกชายฝั่งจะสามารถผลิตไฟฟ้าสะอาดเพียงพอที่จะจ่ายไฟให้กับ 10 ล้านหลังคาเรือน และกักเก็บคาร์บอนไดออกไซด์แทนที่จะปล่อยสู่ชั้นบรรยากาศเอาไว้ได้ถึง 78 ล้านตัน นอกจากนี้ จะสร้างงานที่มีรายได้ดีหลายหมื่นตำแหน่ง เช่น การจัดหาพนักงานในโรงงานผลิตกังหันลม การสร้างและการนำเรือลำใหม่ออกสู่ทะเลเพื่อติดตั้งกังหัน รวมไปถึงการจ้างงานในส่วนของการสร้างและการบำรุงรักษาท่าเรืออีกด้วย

นอกจากการดำเนินโครงการใหม่ ๆ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตพลังงานจากลมนอกชายฝั่งแล้ว กระทรวงพลังงานสหรัฐฯ ยังให้ทุนสนับสนุนการวิจัย เช่น โครงการ Northeast Sea Grant ซึ่งจะศึกษาผลกระทบของพลังงานหมุนเวียนจากมหาสมุทร เช่น ลมนอกชายฝั่ง คลื่น กระแสน้ำ และพลังงานจากน้ำขึ้นน้ำลง ในอุตสาหกรรมประมงและชุมชนชายฝั่งภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศอีกด้วย

ขณะเดียวกัน เป้าหมายการลงทุนในการผลิตพลังงานจากแสงอาทิตย์ของกระทรวงพลังงานสหรัฐฯ  ก็ถือเป็นก้าวสำคัญ โดยพลังงานแสงอาทิตย์เป็นพลังงานหมุนเวียนที่มีราคาถูก และง่ายสำหรับการนำมาใช้ประโยชน์ เริ่มต้นด้วยการระดมทุนโครงการสำรวจเทคโนโลยีพลังงานแสงอาทิตย์ใหม่ ๆ ไปจนถึงเทคโนโลยีพลังงานแสงอาทิตย์ขั้นสูง เพื่อให้สามารถนำพลังงานสะอาดไปใช้งานจริงได้รวดเร็วยิ่งขึ้น

นอกจากนี้ รัฐบาลกลางสหรัฐฯ ยังได้เตรียมจัดสรรงบประมาณก้อนใหญ่กว่า 2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อการสร้างงานและพัฒนาประเทศ ภายใต้แผนงาน American Jobs Plan และการต่อสู้กับวิกฤตสภาพภูมิอากาศ ไม่ว่าจะเป็นการจัดสรรทรัพยากรจำนวนมหาศาลอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน เพื่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานที่สามารถต้านทานผลกระทบจากวิกฤตสภาพภูมิอากาศ การปรับใช้เทคโนโลยีพลังงานสะอาด เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกภายในระยะเวลาที่กำหนด การปิดบ่อน้ำมันและเหมืองที่ถูกทิ้งร้าง เพื่อป้องกันโอกาสในการสร้างความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อมเพิ่มขึ้น และแบ่งปันผลประโยชน์ที่ได้โดยรวมกว่า 40% กลับคืนสู่ชุมชนที่ด้อยโอกาส เพื่อช่วยให้พวกเขาได้เติบโต โดยมีอนาคตที่สะอาดและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากยิ่งขึ้น

อ้างอิงข้อมูลจาก

https://www.energy.gov/articles/how-were-moving-net-zero-2050

472 views

Newsletter Subscription

สนใจรับข่าวสารและกิจกรรมที่เป็นโอกาสของไทย
Email Address
Secure and Spam free...
Go to Top