ธุรกิจอาหารหลังยุค COVID-19 ตอนที่ 1/2: New Normal ของผู้บริโภค

ในช่วงเวลานี้ ถ้าไม่พูดถึงการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) คงจะเป็นไปได้ยาก วิกฤติโรคระบาดรอบนี้นับได้ว่าเป็นครั้งที่ใหญ่และรุนแรงมากที่สุดในรอบ 10 ปี ซึ่งส่งผลกระทบและสร้างความเสียหายต่อธุรกิจในวงกว้าง ไม่ว่าจะเป็นภาคอุตสาหกรรม การบริการ การท่องเที่ยว รวมไปถึงธุรกิจอาหารที่มีความสำคัญอย่างมากต่อชีวิตประจำวันของทุกคน โดยเฉพาะในช่วงของการประกาศของภาครัฐให้กักตัว ภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจทำให้ธุรกิจอาหารได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงมากที่สุดเมื่อเทียบกับธุรกิจประเภทอื่น ๆ ในภาคการบริการด้านอาหารและเครื่องดื่ม ชาวอเมริกันกว่าร้อยละ 60 หรือประมาณ 16 ล้านคน ได้ลงทะเบียนเป็นคนว่างงานในช่วงเดือนมีนาคม 2563 การแพร่ระบาดของ COVID-19 ครั้งนี้อาจจะส่งผลกระทบในระยะยาวไปถึงช่วงหลังวิกฤต โดยมีการคาดการณ์ว่าธุรกิจการบริการด้านอาหารจะไม่มีทางกลับมาเป็นเหมือนเดิมได้อีกอย่างแน่นอนหลังจากนี้และอาจต้องมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบในการดำเนินธุรกิจอย่างถาวร

แม้ว่าขณะนี้ยังเป็นช่วงเปลี่ยนผ่านระหว่างช่วงวิกฤตกับหลังวิกฤต แต่ก็สามารถเห็นได้ชัดเจนถึงพฤติกรรมการปรับตัวของผู้บริโภคอาหาร ดังนี้

  • ยอดการใช้บริการจัดส่งอาหารจะเพิ่มสูงขึ้น (Delivery) เนื่องจากในช่วงวิกฤตผู้บริโภคจำนวนมากอยู่ในสถานการณ์ที่ถูกบังคับให้ใช้บริการจดส่งอาหาร รวมถึงผู้ที่ใช้บริการ Drive-through แต่ยังไม่เคยใช้บริการประเภทนี้ จะตัดสินใจเปลี่ยนมาใช้บริการรูปแบบใหม่ เพราะการบริการจัดส่งทำให้ผู้บริโภคเกิดความสะดวกสบาย ระดับความสะดวกสบายที่สูงขึ้นนี้จะยังคงอยู่และเปลี่ยนไปสู่การใช้บริการจัดส่งด้านอาหารในระยะยาว

  • ผู้บริโภคจะคำนึงถึงความปลอดภัยของอาหารเป็นอับดับแรก ลูกค้าจะระมัดระวังและเรียกร้องจากร้านอาหารมากขึ้น ไม่ใช่ในแง่ของราคาหรือการเลือก แต่เป็นแง่ของความปลอดภัย ความสะอาดและคุณภาพโดยรวม ผู้บริโภคจะมีความเคร่งครัดมากขึ้นสำหรับพนักงานที่ไม่ได้ใช้ถุงมือในการปรุงอาหาร รวมถึง “ตัวบ่งชี้ด้านความสะอาด” ที่เกี่ยวข้อง เช่น ห้องน้ำสกปรกและกระป๋องขยะที่ล้น รวมไปถึงพฤติกรรมการรักษาอนามัย ผู้บริโภคจำนวนมากจะพกพา sanitizers และผ้าเช็ดทำความสะอาด อีกทั้งยังมีการคาดหวังว่าร้านอาหารจะจัดหาให้สำหรับลูกค้าด้วย นอกจากนี้ ผู้บริโภคยังคาดหวังที่จะรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับแหล่งที่มาและการแปรรูปอาหารก่อนที่จะไปถึงร้านอาหาร ไม่แน่ว่าในอนาคต อาจมีการกำหนดและบังคับใช้โดยองค์การอาหารและยาสหรัฐฯ (FDA) หรือองค์กรเอกชนในเรื่องของการเผยแพร่ข้อมูลอาหารให้โปร่งใสตรวจสอบได้มากขึ้น

  • บริการรับอาหารจากรถ (Curbside Pick-up) จะเป็นที่นิยมมากขึ้น เนื่องจากสะดวกสบาย อาหารที่ได้สดและอุณหภูมิดีกว่าการบริการจัดส่ง (Delivery) อีกทั้งไม่ต้องข้องเกี่ยวกับผู้จัดส่งสินค้าอีกด้วย บริการรูปแบบนี้กลายเป็นที่นิยมเพิ่มมากขึ้นในช่วงของการแพร่ระบาด

  • การสั่งสินค้าแบบใช้ระบบสัมผัสด้วยตนเอง ผู้บริโภคสามารถสั่งซื้อโดยใช้ระบบดิจิทัลที่ติดตั้งที่ร้านอาหาร เนื่องจากเป็นยุคที่กำลังขับเคลื่อนไปด้วยโลกของระบบไร้สัมผัสอย่างรวดเร็ว ดังนั้นผู้ประกอบการจะลดจำนวนของพนักงานเก็บเงินลง ระบบแบบนี้เห็นได้เยอะมากที่ญี่ปุ่น และน่าจะได้เห็นมากขึ้นในสหรัฐฯ หลังยุค COVID-19

  • การเปลี่ยนแปลงรูปแบบของบรรจุภัณฑ์อาหารที่สั่งกลับไปทานที่บ้าน (Take-out) หลังจากยุค COVID-19 บรรจุภัณฑ์จะต้องได้รับการแก้ไขให้รักษาอุณหภูมิความชื้นได้ดีขึ้น ดูสะอาด ควบคู่ไปกับการนำเสนออาหารให้ดูน่ารับประทาน เพราะนี่คือความต้องการสูงสุดของผู้บริโภค ถึงแม้ว่าผู้ประกอบการบางรายลังเลที่จะใช้บรรจุภัณฑ์ที่มีราคาสูง แต่ในมุมของบริโภค มีความต้องการและยินดีที่จะจ่ายเงินในส่วนนี้

การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ทำให้ผู้บริโภคที่เคยไปร้านอาหารอย่างสบายใจ ต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมกลายเป็น New Normal วิถีใหม่ เลือกเฟ้นไปร้านที่เชื่อถือได้และปลอดภัย เมื่อผู้ประกอบการเข้าใจวิธีคิดและวิถีใหม่ของลูกค้า ก็สามารถเร่งปรับตัวให้ทัน ใครปรับตัวก่อน ก็จะได้ใจลูกค้าไปก่อน ในตอนหน้า ลองหันมองจากมุมผู้ประกอบการว่า มีปัจจัยอะไรที่ต้องคำนึงถึงและต้องเริ่มปรับตัวกันอย่างไรบ้างหลังยุค COVID-19

 

ขอขอบคุณแหล่งข้อมูลจาก https://www.qsrweb.com/articles/covid-19-will-forever-change-the-foodservice-industry/

Share This Post!

1,084 views

Newsletter Subscription

สนใจรับข่าวสารและกิจกรรมที่เป็นโอกาสของไทย
Email Address
Secure and Spam free...
Go to Top