จากรายได้เสริมสู่ “การส่งออกจิ้งหรีด” เดือนละหลายตัน ภายใต้มาตรฐานสากล

จากความต้องการที่จะใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ เพื่อหารายได้เสริมนอกเหนือจากงานประจำ เริ่มต้นจากการใช้พื้นที่ว่างในบ้าน จนกลายมาเป็นฟาร์มจิ้งหรีดที่ใหญ่ที่สุดในจังหวัดสุโขทัย สามารถผลิตจิ้งหรีดเพื่อส่งออกไปยังต่างประเทศและส่งขายในไทยได้เดือนละหลายตัน สร้างรายได้และสร้างงานให้กับคนในพื้นที่ ด้วยการเพาะพันธุ์ได้มาตรฐานสากล โดยทีมงานมืออาชีพที่ผ่านมาฝึกอบรมเป็นอย่างดี

นางสาวชุติกาญจน์ เจื้อยแจ้ว “หรือคุณส่อง” เจ้าของ “ฟาร์มจิ้งหรีดชุติกาญจน์” ฟาร์มจิ้งหรีดที่ใหญ่ที่สุดในจังหวัดสุโขทัย ตั้งอยู่ที่ตำบลท่าชัย อำเภอศรีสัชนาลัย เล่าถึงประสบการณ์บนเส้นทางเจ้าของธุรกิจส่งออกจิ้งหรีดไทยสู่สากลว่า เธอเริ่มเข้าสู่ธุรกิจนี้ในปี 2558 เพียงเพื่อต้องการหารายได้เสริม จากงานประจำรับราชการ เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในครัวเรือน

“เริ่มต้นจากที่เราอยากมีอาชีพเสริม นอกเหนือจากงานประจำ เพื่อเป็นค่าน้ำค่าไฟ ค่าใช้จ่ายเล็ก ๆ น้อย ๆ เริ่มต้นจากไปดูที่ชาวบ้านเขาเลี้ยงกัน แล้วก็นำมาปรับให้เป็นระบบ ให้ได้มาตราฐานในการเลี้ยง เริ่มจากใช้พื้นที่ว่างในบ้าน เช่นที่จอดรถพอเลี้ยงได้สักพักก็ขยายเพิ่ม ด้วยการใช้เงินรายได้จากการเลี้ยงจิ้งหรีด”

จนกระทั่งในปี 2560 คุณส่องได้พาธุรกิจของเธอเดินทางมาไกลกว่าจุดเริ่มต้นไปมาก ด้วยการทำฟาร์มขนาดใหญ่ที่มีโรงเรือนขนาดกว้าง 10 เมตร ยาว 20 เมตร จำนวนกว่า 5 หลัง ซึ่งสามารถเลี้ยงจิ้งหรีดได้ประมาณ 300 – 400 ชุด ซึ่ง 1 ชุดหรือ 1 กล่องผลิตจิ้งหรีดสดได้ประมาณ 15 – 20 กิโลกรัมต่อรอบ โดยใช้เวลารอบละ 45 วัน เฉลี่ยเดือนละประมาณ 5 – 6 ตันต่อรอบ

ทิศทางและโอกาสในการส่งออกไปยังสหรัฐอเมริกา

ตลาดส่งออกจิ้งหรีดของไทยไปต่างประเทศได้รับความนิยมและขยายตัวอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะสหรัฐฯ สหภาพยุโรป ญี่ปุ่น และ จีน ประกอบกับองค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ ได้ส่งเสริมให้คนทั่วโลกหันมาบริโภคจิ้งหรีด เพราะเป็นแหล่งโปรตีนชั้นดี อีกทั้งมีราคาถูก และหาได้ง่ายในท้องถิ่น และสามารถนำมาผลิตหรือแปรรูปได้หลากหลาย ซึ่งในปี พ.ศ. 2561 มีการเพาะเลี้ยงจิ้งหรีดทั่วประเทศกว่า 20,000 ฟาร์ม กำลังการผลิตกว่า 700 ตัน/ปี รวมมูลค่ากว่า 1,000 ล้านบาท/ปี

“ฟาร์มของเราส่งจิ้งหรีดไปหลายประเทศ แต่หลัก ๆ ก็คือ ประเทศสหรัฐฯ เพราะเป็นกลุ่มผู้บริโภคที่มีความสนใจและความต้องการแมลงเป็นอันดับต้น ๆ ของโลก ซึ่งผู้คนส่วนใหญ่จะให้ความสำคัญกับการบริโภคแมลง ฟาร์มของเราผลิตและส่งออกไปต่างประเทศในปริมาณ 95% และส่งขายในประเทศไทยเพียงแค่ 5%”

“ปัจจุบันจะเห็นได้ว่ากลุ่มเกษตรกรไทยที่เลี้ยงจิ้งหรีด เริ่มทำฟาร์มที่ได้มาตรฐาน GAP มากยิ่งขึ้น ซึ่งถือว่าเป็นสิ่งที่ดี เพราะมันคือการเปิดโอกาสในการส่งออกไปต่างประเทศได้”

วิกฤตโควิด-19 กลับกลายเป็นโอกาสในการส่งออกจิ้งหรีด 

สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในช่วงแรกนั้น ได้สร้างความกังวลใจให้กับคุณส่องเป็นอย่างมาก เนื่องจากเกรงว่าจะไม่สามารถขายจิ้งหรีดที่เลี้ยงเอาไว้ได้ เพราะมีความเป็นไปได้สูงมากที่จะไม่มีลูกค้าสั่งซื้อเข้ามาเลย

“ช่วงโควิดรอบแรกที่ผ่านมา ตอนแรกวิตกว่าเลี้ยงจิ้งหรีดแล้วจะขายให้ใคร จะมีคนมาซื้อไหม ซึ่งจริงๆ แล้วในวิกฤติมันคือโอกาส เพราะตอนนั้นทุกคนต่างต้องการอาหาร และจิ้งหรีดก็เป็นอาหารทางเลือกใหม่ให้กับผู้บริโภคที่ต้องการโปรตีน”

“โปรตีนจากจิ้งหรีดเป็นโปรตีนที่มีราคาถูก เป็นทางเลือกใหม่สำหรับผู้บริโภคที่สนใจในการบริโภคแมลง เพื่อทดแทนโปรตีนราคาแพงที่มีอยู่ตามท้องตลาด และยังเหมาะสมกับผู้บริโภคที่ต้องการโปรตีนจำนวนมาก ทำให้ออเดอร์ของเราตอนนี้คือเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ในช่วงโควิดที่ผ่านมา”

จากกำลังผลิตเฉลี่ยเดือนละหลายตัน ส่งผลให้ฟาร์มจิ้งหรีดชุติกาญจน์มีผลิตภัณฑ์หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นผงแป้ง (powder) จิ้งหรีด รวมถึงจิ้งหรีดสดและจิ้งหรีดอบแห้ง

“สำหรับผงแป้งจิ้งหรีดเราขายที่ตันละประมาณ 8-9 แสนบาท เพื่อเป็นเวย์โปรตีน หรือใช้เป็นส่วนผสมของอาหารต่าง ๆ เช่น พาสต้า คุกกี้ หรือเค้กต่าง ๆ นอกจากนี้เรายังมีการส่งออกทั้งในแบบตัวสดและตัวอบแห้ง ตัวอบแห้งเราขายอยู่ที่ประมาณ 600 – 700 บาท หรือตันละประมาณ 6-7 แสนบาทได้ ส่วนตัวสดเราขายส่งอยู่ที่ประมาณกิโลกรัมละ 150 บาท หรือประมาณ 150,000 บาท/ตัน”

“โดยมีอัตราการแปรรูปอยู่ที่ 4:1 ซึ่งเราจะใช้ตัวสดประมาณ 4 กิโลกรัม เพื่อนำมาอบแล้วจะได้ตัวอบแห้ง 1 กิโลกรัม และในปัจจุบันเราต้องการวัตถุดิบเยอะมาก เพื่อให้เพียงพอต่อความต้องการของลูกค้าในสหรัฐฯ”

เคล็ดลับความสำเร็จและคำแนะนำ

เคล็ดลับความสำเร็จของคุณส่องก็คือ “ขยัน ซื่อสัตย์ อดทน และตรงต่อเวลา”

“ลูกค้าในต่างประเทศจะเน้นเรื่องการตรงต่อเวลา เพราะเมื่อเราทำได้ ลูกค้าก็จะมีความเชื่อมั่น และจะช่วยให้เรามีออเดอร์เข้ามาอยู่เรื่อย ๆ ผู้ประกอบการต้องดูแลควบคุมคุณภาพของสินค้าอยู่เสมอ และต้องสามารถตรวจสอบได้”

อาชีพการเลี้ยงจิ้งหรีดเป็นอาชีพที่ใช้น้ำน้อย ถือเป็นอีกหนึ่งทางเลือกสำหรับเกษตรกรหรือผู้เลี้ยงจิ้งหรีดในอนาคต ปัญหาอุปสรรคที่สำคัญในการเลี้ยงจิ้งหรีด คือ ต้องใส่ใจในความสะอาด เรื่องของสภาพแวดล้อม อาหารจิ้งหรีด น้ำ อุปกรณ์การเลี้ยง และบริเวณรอบโรงเรือนเลี้ยงจิ้งหรีดต้องปราศจากสัตว์อื่นรบกวน และเลี้ยงในที่ที่มีอากาศถ่ายเท

“ตอนแรกที่เลี้ยงจิ้งหรีดไม่คิดไม่ฝันว่าจะได้มาส่งออก เพราะคิดว่าเลี้ยงพอเป็นอาชีพเสริม ขายให้พ่อค้าแม่ค้าในตลาดนัดใกล้บ้าน แต่แล้วจู่ ๆ ก็มีทางต่างประเทศเข้ามาสนใจในผลิตภัณฑ์จิ้งหรีดของเรา และนำผลิตภัณฑ์จิ้งหรีดของเราไปวิจัย เรามีการพัฒนาคุณภาพจนได้มาตรฐาน GAP และ HACCP และนั่นก็ทำให้เราสามารถสิ่งออกจิ้งหรีดมาจนถึงปัจจุบัน ซึ่งก็ประมาณ 3-4 ปีแล้ว”

“และสิ่งที่อยากฝากถึงผู้ประกอบการไทยก็คือ ไม่ว่าคุณจะเลี้ยงจิ้งหรีดหรือว่าจะทำอาชีพเกษตรกรรมใดก็ตาม เมื่อเจออุปสรรคเราจะต้องสู้ ห้ามท้อ ต้องไม่ยอมแพ้ แล้วสักวันนึงความสำเร็จจะเป็นของเรา”

2,845 views

Newsletter Subscription

สนใจรับข่าวสารและกิจกรรมที่เป็นโอกาสของไทย
Email Address
Secure and Spam free...
Go to Top