ข่าวดีผู้ประกอบการไทย! ขยายตลาดส่งออกผลไม้ “ส้มโอไทย” สู่ตลาดสหรัฐฯ

Photo credit: www.thansettakij.com

ปัจจุบันประเทศไทยสามารถส่งออกส้มโอผลสดไปขายใน 30 ประเทศ โดยมีตลาดสำคัญคือ จีนและมาเลเซีย ในปี พ.ศ. 2565 ไทยส่งออกส้มโอจำนวน 1.68 ล้านตัน หรือคิดเป็นมูลค่า 45.55 ล้านบาท และนับจากนี้ ไทยสามารถส่งออกส้มโอมายังสหรัฐฯ ได้แล้ว นับเป็นข่าวดีสำหรับเกษตรกรผู้ปลูกส้มโอ รวมทั้งผู้ประกอบการส่งออกผลไม้ที่จะได้เพิ่มตลาดส่งออกได้มากขึ้น

เปิดตัวส้มโอไทยในสหรัฐฯ

สหรัฐฯ เป็นประเทศที่มีความเข้มงวดด้านมาตรการสุขอนามัยพืชอย่างสูง แต่เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม ที่ผ่านมา สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงวอชิงตันได้จัดงานเทศกาลไทย “Sawasdee DC” เพื่อเฉลิมฉลองโอกาสครบรอบ 190 ปี ความสัมพันธ์ไทย-สหรัฐฯ ที่หน้าอาคารรัฐสภาสหรัฐฯ ใจกลางกรุงวอชิงตัน และมีการเปิดตัวส้มโอไทยอย่างเป็นทางการ ทั้งพันธุ์ทองดี ขาวใหญ่ ขาวน้ำผึ้ง ขาวแตงกวา และทับทิมสยาม โดยได้ความนิยมและเสียงชื่นชมเกี่ยวกับรสชาติที่เอร็ดอร่อยจากผู้ร่วมงานเป็นอย่างมาก มีคนต่อแถวรอชิมส้มโอไทยยาวไม่แพ้ร้านอาหารไทยเลยทีเดียว

จุดเริ่มต้น

ประเทศไทยโดยกรมวิชาการเกษตรได้มีการเจรจาเปิดตลาดส้มโอฉายรังสีจากประเทศไทยมายังสหรัฐฯ ตั้งแต่ปี 2549 ในที่สุด เมื่อช่วงกลางปี 2565 กรมวิชาการเกษตรได้ร่วมประชุมกับผู้แทนจากหน่วยงาน Animal and Plant Health Inspection Service (APHIS) ประจำประเทศไทย ซึ่งเป็นหน่วยงานกำกับดูแลด้านสุขอนามัยสัตว์และพืช ภายใต้กระทรวงเกษตรสหรัฐฯ (United States Department of Agriculture: USDA) เพื่อหารือความร่วมมือด้านการเกษตรระหว่างไทยและสหรัฐฯ โดยเฉพาะโครงการตรวจสอบผลไม้สดไทยฉายรังสีก่อนการส่งออกไปยังสหรัฐฯ (Preclearance Program) และได้ขอให้ USDA ส่งเจ้าหน้าที่เพื่อจัดทำ dose mapping สำหรับการฉายรังสีกำจัดแมลงศัตรูพืชสำหรับส้มโอเพื่อส่งออกมายังสหรัฐอเมริกา

จากการประชุมหารือดังกล่าว เมื่อช่วงเดือนเมษายนและพฤษภาคม 2566 ทางหน่วยงาน APHIS จึงได้ส่งเจ้าหน้าที่ผู้ตรวจสอบ (Inspector) เดินทางไปยังประเทศไทย เพื่อดำเนินการวัดค่าการกระจายตัวของรังสี (Dose mapping) เพื่อกำจัดแมลงศัตรูพืชสำหรับส้มโอ และเมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2566 ที่ผ่านมา USDA ได้ประกาศอนุญาตให้ไทยสามารถส่งออกส้มโอสดด้วยวิธีการฉายรังสีเข้าสู่สหรัฐอเมริกาได้เป็นครั้งแรก

ส้มโอที่ผู้ร่วมงานเทศกาลไทย “Sawasdee DC” ได้ลิ้มลอง จึงนับเป็นส้มโอชิปเมนต์แรกของฤดูกาลผลิตปี 2566 ที่ส่งออกมายังสหรัฐอเมริกาอย่างเป็นทางการ โดยก่อนหน้านี้ ไทยสามารถส่งออกผลไม้สดฉายรังสีมายังสหรัฐฯ ได้แล้วจำนวน 7 ชนิด ได้แก่ มะม่วง มังคุด ลำไย ลิ้นจี่ เงาะ สับปะรด และแก้วมังกร โดยส้มโอ เป็นผลไม้สดไทยชนิดที่ 8 ที่ไทยได้รับอนุญาตให้ส่งออกขายในตลาดสหรัฐฯ โดยได้รับอนุญาตแบบไม่จำกัดพันธุ์

ขั้นตอนการส่งออกส้มโอผลสดมายังสหรัฐฯ ต้องทำอย่างไร

1.) ผู้ประกอบการหรือผู้ประสงค์จะส่งออกส้มโอสดมายังสหรัฐฯ จะต้องติดต่อหาตลาดหรือผู้รับซื้อส้มโอในสหรัฐฯ

2.) การหาสวนส้มโอสำหรับส่งออก โดยส้มโอที่จะส่งออกจะต้องมาจากสวนที่ได้รับการรับรองตามมาตรฐานการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี (Good Agricultural Practice: GAP)

3.) การเลือกโรงคัดบรรจุผลส้มโอ จะต้องใช้บริการโรงคัดบรรจุผลไม้ที่ได้รับการรับรองตามหลักเกณฑ์และวิธีที่ดีในการผลิต (Good Manufacturing Practice: GMP) ซึ่งก่อนการส่งออกต้องทำความสะอาดและกำจัดแมลงศัตรูพืช และเชื้อรา ตามคำแนะนำของกรมวิชาการเกษตร อย่างเคร่งครัด

4.) ผลผลิตส้มโอที่จะส่งออกต้องผ่านการฉายรังสีแกรมมา (Gamma: γ) ที่ระดับ 400 เกรย์ นาน 3 ชั่วโมง จากศูนย์ฉายรังสี สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (สทน.) เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของศัตรูพืชและโรคต่างถิ่น โดยผู้ส่งออกจะต้องติดต่อประสานงานกับบริษัท อกริ แอคทีฟ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทที่สหรัฐอเมริกาให้การยอมรับและกรมวิชาการเกษตรเห็นชอบให้เป็นผู้ประสานงาน (Cooperator) ตามโครงการ Pre-Clearance Program ในการบริหารจัดการกับสินค้าและประสานกับเจ้าหน้าที่ทั้ง 2 ฝ่ายให้เป็นผู้ดำเนินการทั้งก่อนการส่งออกและหลังการนำเข้าที่ประเทศปลายทาง ซึ่งรวมไปถึงผลไม้ส่งออกอีก 7 ชนิดของไทยเช่นกัน

นอกจากนี้ บริษัท อกริ แอคทีฟ จำกัด ยังให้คำปรึกษาแก่โรงคัดบรรจุและผู้ส่งออกในด้านวิชาการ เช่น การเตรียมความพร้อมโรงคัดบรรจุก่อนการตรวจประเมิน GMP หรือให้คำแนะนำเกี่ยวกับบรรจุภัณฑ์ ทั้งด้านรูปทรงและความแข็งแกร่งทนทานของกล่องบรรจุ ที่มักเป็นปัญหาหลักสำหรับการส่งออก รวมไปถึงบริษัทฯ ยังให้บริการข้อมูลเกี่ยวกับความน่าเชื่อถือของผู้นำเข้าจากสหรัฐฯ เพื่อป้องกันและหลีกเลี่ยงความเสียหายให้กับผู้ส่งออกผลไม้สดฉายรังสีของไทย

5.) การขอการรับรองก่อนการส่งออก

  • กรมวิชาการเกษตรจะออกใบรับรองสุขอนามัยพืช (Phytosanitary Certificate)
  • หน่วยงาน APHIS ของกระทรวงเกษตรของสหรัฐฯ จะทำการตรวจสอบ รับรอง และออกเอกสาร Plant Protection and Quarantine หรือ PPQ 203

6.) เมื่อผ่านการรับรองการส่งออกแล้ว จึงทำการส่งออกส้มโอสดฉายรังสีมายังสหรัฐฯ ได้

ผู้ที่สนใจส่งออกส้มโอสดและผลไม้อีก 7 ชนิด ได้แก่ มะม่วง มังคุด ลำไย ลิ้นจี่ เงาะ สับปะรด และแก้วมังกร มายังสหรัฐฯ สามารถติดต่อขอรับข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่:

  • สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช กลุ่มวิจัยกักกันพืช ตึกจักรทอง กรมวิชาการเกษตร (ตั้งอยู่ภายในมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน)

ที่อยู่: สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช กรมวิชาการเกษตร

เลขที่ 50 ถนนพหลโยธิน แขวงลาดยาว เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร 10900

โทร: 02-561-2145 ต่อ 103 หรือ 02-561-2537

อีเมล์: rakkrai@yahoo.com

เว็บไซต์: https://www.doa.go.th/plprotect/

  • สำนักงานที่ปรึกษาการเกษตรต่างประเทศ ประจำกรุงวอชิงตัน

ที่อยู่: 1024 Wisconsin Ave NW, Suite 203 Washington, DC 20007

โทร: +1 202-338-1543

อีเมล์: moacdc@thaiembdc.org

Facebook: https://www.facebook.com/OfficeofAgriculturalAffairsDC

 

**ขอบคุณข้อมูลจาก สำนักงานที่ปรึกษาการเกษตรต่างประเทศ ประจำกรุงวอชิงตัน ดี.ซี.**

**ขอบคุณภาพประกอบโดย Sawasdee DC’s official photographers**

อ้างอิง

https://www.thaigov.go.th/infographic/contents/details/7132

https://www.thansettakij.com/business/trade-agriculture/569179

242 views

Newsletter Subscription

สนใจรับข่าวสารและกิจกรรมที่เป็นโอกาสของไทย
Email Address
Secure and Spam free...
Go to Top