โอกาสของสินค้าไทยในกระแสความนิยมอาหารและสินค้าสตรีทฟู้ดในสหรัฐฯ

กระแสความนิยมอาหารประเภทสตรีทฟู้ด (Street Food) ในสหรัฐฯ มีมายาวนาน จากการขายอาหารประเภทพร้อมรับประทาน (ready-to-eat) ตามท้องถนนแบบ Food truck หรือการออกร้านในสถานที่สาธารณะ เช่น ตลาด สวนสาธารณะ หรือในงานแฟร์ จนขยายไปสู่การผลิตสินค้าที่มีที่มาจาก สตรีทฟู้ดในห้างขายปลีกขนาดใหญ่ทั่วประเทศ

นอกจากนี้ หลายประเทศทั่วโลกก็มีวัฒนธรรมสตรีทฟู้ดที่เป็นเอกลักษณ์ของตนเอง และแสดงออกถึงลักษณะเด่นของรสชาติอาหารและประเพณีของพื้นที่นั้นๆ เช่น ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะมีตลาดกลางคืนที่คึกคัก มีอาหารที่มีกลิ่นหอมและรสชาติหลากหลาย เช่น ผัดไทย อาหารผัดต่างๆ หรือของทอดในประเทศไทย หรือเฝอในเวียดนาม ส่วนที่เม็กซิโกมีแผงขายทาโก้นับเป็นส่วนสำคัญของชีวิตประจำวัน ในตะวันออกกลางมีแผงขายฟาลาเฟลและชาวาร์มา และถนนในญี่ปุ่นจะเรียงรายไปด้วยแผงขายทาโกะยากิและโอโคโนมิยากิ เป็นต้น

สตรีทฟู้ดในสหรัฐฯ เป็นที่นิยมและมีการเปลี่ยนแปลงจากที่เคยเป็นมาในอดีต ซี่งในปี ๒๕๖๖ นี้ มีรถขายอาหารสตรีทฟู้ดมากกว่า ๒๓,๐๐๐ คัน และการได้รับประทานอาหารที่ปรุงสดและเสิร์ฟในสถานที่นั้นๆ รวมทั้งการได้ลองอาหารประเภทใหม่ๆ เป็นประสบการณ์ที่ผู้บริโภคจำนวนมากชื่นชอบ และเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยผลักดันการเติบโตของกระแสสตรีทฟู้ดในสหรัฐฯ จนเมื่อไม่นานมานี้ ห้างค้าปลีกและซุปเปอร์มาร์เก็ตต่าง ๆ เริ่มวางขายสินค้าในรูปแบบอาหารสตรีทฟู้ดกันอย่างแพร่หลาย

รายงานล่าสุดจากบริษัทวิจัย Datassential พบว่า ร้อยละ ๔๙ ของผู้บริโภคในสหรัฐฯ สนใจอาหารสตรีทฟู้ดทั่วโลก และร้อยละ ๙.๓ ของรายการอาหารในร้านอาหารหลายแห่ง มีคำว่า “street food” ปรากฎอยู่ ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้น ๒ เท่าตัวจากเมื่อ ๑๐ ปีก่อนหน้า นอกจากนี้ Datassential คาดการณ์ว่า การเสนอเมนูอาหารที่เป็น street food จะขยายตัวเป็นร้อยละ ๑๑.๒ ภายในปี ๒๕๖๙

ปัจจุบันบริษัทผู้ผลิตอาหารยักษ์ใหญ่ในตลาดสหรัฐฯ เช่น Kraft Heinz, Kellogg’s และ PepsiCo รวมไปถึงบริษัทสตาร์ทอัพหลายรายหันมาผลิตสินค้าอาหารที่โฆษณาว่าเป็น “street food” กันมากขึ้น โดย Kraft Heinz บุกตลาดด้วยแบรนด์ Delimex ที่เป็นอาหารเม็กซิกันแช่แข็ง โดยโฆษณาว่า เป็นการ “นำอาหาร street food ของเม็กซิกันเข้าสู่ main street อเมริกา” และ Kellogg’s วางตลาดสินค้าแบรนด์ Vanilla Bean Grab & Go Waffle ที่บริษัทโฆษณาว่าเป็น street food จากเบลเยี่ยม

บริษัทสตาร์ทอัพสองรายคือ MiLa Food (MìLà แปลว่า street food avenue) ผู้ผลิตอาหารเอเซีย และ SOMOS Foods ผู้ผลิตอาหารเม็กซิกัน ได้ให้ความเห็นเกี่ยวกับความนิยมอาหารสตรีทฟู้ดในสหรัฐฯ ว่า ผู้บริโภคในสหรัฐฯ มีความคุ้นเคยกับการบริโภคอาหารต่างชาติมากขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากเป็นรสชาติแปลกใหม่น่าสนใจ ซึ่งนำไปสู่ความต้องการที่จะบริโภคอาหารกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ที่มีรสชาติใกล้เคียงของดั้งเดิมมากที่สุด (most authentic) เท่าที่จะเป็นไปได้ นอกจากนี้ผู้บริโภคยังเชื่อมโยงคำว่า “street food” เข้ากับคำว่า “convenience” อีกด้วย ยิ่งไปกว่านั้น เจ้าของบริษัทสตาร์ทอัพทั้งสองรายนี้เชื่อว่า ตลาดอาหารประเภท street food กำลังมีโอกาสดีที่สุด

ตลาดของสินค้าอาหารที่มีแหล่งกำเนิดมาจากสตรีทฟู้ด ซึ่งวางขายในซุปเปอร์มาร์เก็ตใหญ่ๆ ในสหรัฐฯ เช่น Walmart, Target และ Wholefoods กำลังขยายตัวเป็นอย่างมาก โดยสินค้าเหล่านี้จะถูกโฆษณาว่าเป็น “street food” ในหลากหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นอาหารพร้อมรับประทานแช่แข็ง น้ำจิ้ม และเครื่องดื่มต่างๆ หรือแม้แต่อาหารประเภทขนมขบเคี้ยว

ตัวอย่างสินค้าอาหารสตรีทฟู้ดที่มีวางขายในสหรัฐฯ

Photo Credit: Thai Trade Center, Los Angeles

ข้อมูลจากสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครลอสแอนเจลิส พบว่า การใช้คำว่า “street” บนฉลากสินค้าถือเป็นกลยุทธ์ที่แพร่หลายในปัจจุบัน เนื่องจากเป็นการสร้างความสนใจและความโดดเด่นออกจากคู่แข่งทางการค้า โดยระบุว่าสินค้า “street food” นั้นๆ เป็นอาหารเฉพาะของแต่ละชาติพันธุ์อย่างแท้จริง

สหรัฐฯ มีความหลากหลาย (diversity) ของชาติพันธุ์สูง และการยอมรับก็มีมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยเฉพาะในกลุ่มคนรุ่นใหม่ ซึ่งปัจจุบันมีจำนวนประมาณครึ่งหนึ่งของประชากรสหรัฐฯ และมีแนวโน้มการเติบโตของประชากรต่อเนื่องที่จะกลายเป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้อสูงสุด โดยเฉพาะกลุ่ม millennial (ประมาณ ๗๓ ล้านคน) และ Gen Z (ประมาณ ๗๑ ล้านคน) ที่มีพฤติกรรมนิยมเปิดรับความแตกต่างทางวัฒนธรรมมากที่สุด นอกจากนี้ กลุ่มคนเหล่านี้ยังชอบความแปลกใหม่ จึงมีพฤติกรรมการซื้อสินค้าในลักษณะการ “สร้างประสบการณ์ใหม่ๆ” ซึ่งมีทั้งกลุ่มที่ต้องการความสะดวกสบาย และกลุ่มที่นิยมการปรุงอาหารเพื่อบริโภคเอง

ผู้ประกอบการสินค้าอาหารและเครื่องดื่มไทยมีโอกาสมากน้อยแค่ไหนในตลาด “street food” ในสหรัฐฯ

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครลอสแอนเจลิส ระบุว่า อาหารของภูมิภาคเอเซีย โดยเฉพาะอาหารไทยได้รับความนิยมสูงในสหรัฐฯ โดยจะเห็นได้ว่า

  • ๑ ใน ๔ ของร้านอาหารในสหรัฐฯ ให้บริการอาหารเอเซีย และอาหารหลักที่ร้านอาหารเอเซียส่วนใหญ่นำเสนอมักจะมาจากสองชาติ คือจีนและไทยเป็นหลัก
  • ร้านอาหารไทยในสหรัฐฯ มีจำนวนมาก แพร่หลายไปทั่วประเทศในลักษณะที่ไม่ได้มีสัดส่วนสอดคล้องกับจำนวนประชากรเชื้อชาติไทย แสดงให้เห็นว่า อาหารไทยได้รับความนิยมสูงมากจากผู้บริโภคสหรัฐฯ ที่เป็นกลุ่มชาติพันธุ์อื่นๆ
  • ประเทศไทยได้กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวติดอันดับหนึ่งของโลก และชื่อเสียงของ street food ในประเทศไทยที่ได้รับการกล่าวขวัญกันทั่วไปในสหรัฐฯ

ดังนั้น ผู้ประกอบการสินค้าอาหารและเครื่องดื่มไทยมีโอกาสที่ดีในการที่จะมีส่วนแบ่งในตลาดสินค้าสตรีทฟู้ดของสหรัฐฯ ซึ่งผู้ประกอบการชาวไทยอาจหันมาสนใจต่อกลยุทธ์การตลาด “street food” ให้มากขึ้น รวมไปถึงแสวงหาโอกาสที่จะผลิตและส่งสินค้าสตรีทฟู้ดแบบไทยๆ เข้าสู่ตลาดสหรัฐฯ ให้มากยิ่งขึ้นในขณะที่ตลาดกำลังมีความต้องการ โดยเฉพาะในระยะหลังที่แนวโน้มการบริโภคในสหรัฐฯ ขยายครอบคลุมทั้งการซื้ออาหารพร้อมรับประทานจากร้านสะดวกซื้อหรือซุปเปอร์มาร์เก็ต เช่น Trader Joe’s ที่นำเข้าอาหารประจำชาติแช่แข็งจากต่างประเทศเป็นจำนวนมาก และการซื้อส่วนประกอบมาปรุงอาหารเอง ซึ่งกระแสของ meal kit เช่น Hello Fresh และ Blue Apron ซึ่งนำเสนอเมนูอาหารไทยด้วย ยังคงได้ความนิยมอย่างต่อเนื่อง

ผู้ประกอบการสินค้าอาหารและเครื่องดื่มไทยและผู้ที่สนใจ สามารถย้อนไปอ่านเรื่องราวเกี่ยวกับสินค้าอาหารและเครื่องดื่ม รวมไปถึงแนวโน้มการบริโภคในสหรัฐฯ ได้ที่ แนวโน้มสินค้าอาหารและเครื่องดื่มที่เป็นที่นิยมในสหรัฐฯ  

อ้างอิง

https://www.ditp.go.th/post/151919

https://partsfe.com/blog/post/Street-food-and-food-truck-trends#:~:text=Rise%20of%20Gourmet%20and%20Fusion%20Street%20Food&text=Fusion%20cuisine%20has%20also%20become,create%20exciting%20and%20unique%20dishes.

https://www.uschamber.com/co/good-company/launch-pad/companies-monetize-consumer-demand-for-street-food

577 views

Newsletter Subscription

สนใจรับข่าวสารและกิจกรรมที่เป็นโอกาสของไทย
Email Address
Secure and Spam free...
Go to Top